สหรัฐฯ บริจาค Pfizer ถึง “ไทย” 30 ก.ค. 64 1.54 ล้านโดส เตรียมจัดสรรให้ใครบ้าง ?

สหรัฐฯ บริจาค Pfizer ถึง “ไทย” 30 ก.ค. 64 1.54 ล้านโดส เตรียมจัดสรรให้ใครบ้าง ?
HighLight : วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อ Pfizer ที่ได้รับการแบ่งปันจากสหรัฐฯ จะเดินทางมาถึงไทย เวลาประมาณตี 4 ของวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค. 64) คณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ มีมติจัดสรร 700,000 โดส เพื่อฉีดเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มกระตุ้น)


สิ้นสุดการรอคอย ! สำหรับวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อ Pfizer ที่ได้รับการแบ่งปันจากสหรัฐฯ จะเดินทางมาถึงไทย เวลาประมาณตี 4 ของวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค. 64) ถือเป็นวัคซีนยี่ห้อที่ 4 ที่จะมีการฉีดในประเทศไทย นับจากวัคซีนหลัก ได้แก่ ยี่ห้อ AstraZeneca กับ Sinovac และวัคซีนทางเลือกยี่ห้อ Sinopharm

จากผลการศึกษาหลายประเทศ ต่างยืนยันว่า Pfizer ที่มีเทคนิคการผลิตแบบ mRNA เป็นอาวุธที่ต่อกรกับโควิด-19 สายพันธุ์ Delta ได้ดีที่สุดยี่ห้อหนึ่ง ดังนั้น วัคซีน Pfizer ชุดประวัติศาสตร์นี้ ที่มีจำนวน 1.54 ล้านโดส จะได้รับการจัดสรรให้ใครบ้าง ? มีวิธีการจัดเก็บดูแลรักษาเเละเทคนิคการฉีดอย่างไร ? ไปติดตามให้รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์

 20210729-a-01.jpg


วัคซีน
Pfizer 1.54 ล้านโดส จัดสรรให้ใครบ้าง ?

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 คณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ มีมติจัดสรร วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) 1.54 ล้านโดส ที่ได้รับการบริจาคจากสหรัฐฯ ให้แก่บุคคลได้ต่อไปนี้

  1. วัคซีน 700,000 โดส เพื่อฉีดเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มกระตุ้น)
  2. วัคซีน 645,000 โดส ฉีดให้ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค อายุ 12 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในจังหวัดระบาดสูง (ขึ้นกับอัตราผู้เสียชีวิตและความครอบคลุมของวัคซีนที่ฉีดในผู้สูงอายุแต่ละจังหวัด)
  3. วัคซีน 150,000 โดส จัดสรรให้ชาวต่างชาติอาศัยในไทย (เน้นผู้สูงอายุ, มีโรคเรื้อรัง) และผู้เดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องรับวัคซีน (นักการทูต, นักศึกษา) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศประสานหลัก
  4. วัคซีน 5,000 โดส ทำการศึกษาวิจัย ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม (กรมควบคุมโรคพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์การควบคุมโรคของประเทศเป็นสำคัญ)
  5. วัคซีน 40,000 โดส สำรองตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์

 

Pfizer การจัดเก็บและเทคนิคการฉีดที่แตกต่าง !!!

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยวันนี้ (29 ก.ค. 64) ว่า เมื่อวัคซีน Pfizer มาถึงไทย ต้องจัดเก็บอยู่ในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะมีกระบวนการสอนบุคลากรทางการแพทย์ถึงวิธีผสมวัคซีนก่อนใช้งาน เพราะ Pfizer มีความแตกต่างจาก AstraZeneca กับ Sinovac เพราะ 2 ยี่ห้อนั้น สามารถดึงวัคซีนจากขวดที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ก็สามารถนำไปฉีดได้เลย แต่วัคซีน Pfizer ต้องจัดเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส จากนั้น ขนส่งไปยังหน่วยฉีดวัคซีน เพื่อเก็บไว้ในคลังที่มีอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้อายุวัคซีนสั้นลง อยู่ได้เพียง 4 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นเวลานำออกมา ก็ต้องรีบใช้ และการใช้ก็แตกต่างออกไปอีก เนื่องจาก Pfizer เป็นวัคซีนเข้มข้น ต้องมีการผสมน้ำเกลือลงไป ให้ได้ตามสัดส่วน และจะมีการดูดวัคซีนจากขวดใหญ่ เพื่อนำไปฉีด ปริมาตร 1 ขวด สามารถฉีดได้ 6 คน ดังนั้น ทางกรมควบคุมโรคจะดำเนินการทั้งเรื่องการเก็บรักษา การผสมวัคซีน การนัดหมายการฉีด ซึ่งจะมีการอบรมแก่บุคลากรในจุดฉีดวัคซีนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

สหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายบริจาควัคซีนให้ไทยรวม 2.5 ล้านโดส

VOA Thai รายงานว่า เมื่อวันอังคาร (27 ก.ค. 64) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ พันโทหญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย เปิดเผยว่า สหรัฐฯ เตรียมส่งวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้ไทยทั้งสิ้น 2.5 ล้านโดส โดยจัดส่งชุดแรกให้เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านโดส เธอกล่าวว่า “เราตระหนักดีว่าโรคระบาดไม่จำกัดพรมแดน หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขในภูมิภาคหนึ่ง จะไม่มีภูมิภาคใดที่ปลอดภัย ดิฉันทราบถึงประกาศล่าสุดที่เราส่งวัคซีนโควิดไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านโดส (ให้แก่ไทย) ซึ่งที่จริงแล้วจะมีทั้งสิ้น 2.5 ล้านโดส แต่การจัดส่งชุดแรกมีวัคซีน 1.5 ล้านโดส”

 

สหราชอาณาจักรเตรียมบริจาค AstraZeneca ให้ไทย 4.15 แสนโดส

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักร จะส่งมอบวัคซีน AstraZeneca จำนวน 415,040 โดส ให้แก่ไทย ต้นเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างอังกฤษกับไทย ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเตรียมรับมอบวัคซีนให้เรียบร้อย รวมถึงการจัดเตรียมแนวทางบริหารจัดการวัคซีนทันที และกระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง สำหรับวัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูง ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ฉีดวัคซีน AstraZeneca ไปแล้วกว่า 500 ล้านโดส ใน 160 ประเทศ

 

แหล่งที่มา:

https://www.facebook.com/PMOCNEWS/posts/593602712025055

https://www.facebook.com/fanmoph/videos/2004520013032120

https://www.facebook.com/ThaigovSpokesman/posts/1225259161273221

 

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

ติดต่อโฆษณา!