9 ประเทศในโลกที่มีการฉีดวัคซีนโควิดให้ประชากรครบโดสได้เกิน 70% ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรปและมีประชากรน้อย ส่วนไทยยังห่างไกลเป้า
Highlight
ประเทศที่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชากรครบโดสเกิน 70% ส่วนใหญเป็นประเทศในทวีปยุโรป และมีจำนวนประชากรไม่เกิน 10 ล้านคน วัคซีนที่ฉีดส่วนใหญ่คือ โมเดอน่า, ไฟเซอร์, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, แอสตร้าเซเนก้า ส่วนไทยยังไกลเป้าหมาย โดยปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนครบโดสรวมประมาณ 11% ของประชากร แต่หากสามารถเพิ่มจำนวนวัคซีนเป็น 500,000-600,000 ต่อวันอย่างต่อเนื่อง จะถึงเป้าหมาย 70% ได้ในปลายปีนี้
การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรได้เกิน 70% เป็นเป้าหมายสำคัญที่หลายประเทศกำลังพยายามก้าวไปให้ถึง เพื่อหวังที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในการป้องกันโควิด-19 และแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาอาจมีแนวโน้มทำให้การฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชากร 70% อาจไม่เพียงพออีกต่อไป และตัวเลข 70% นี้ก็ยังเป็นจุดหมายสำคัญของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน
โดยข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย. 2564 ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันแล้วประมาณ 5.33 พันล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนครบ 2 โดสประมาณ 1.2 พันล้านคน หรือราว 15% ของประชากรทั้งโลก
อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ถ้าดำเนินต่อไปในอัตรานี้ จะให้เวลาอีก 138 วัน ประชากรทั้งโลกจะได้รับวัคซีนครบ 2 โดส
แต่ความเป็นจริงไม่ได้ง่ายอย่างตัวเลขคาดการณ์ เพราะสายพันธุ์เดลตาทำให้หลายประเทศวางแผนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 (บูสเตอร์โดส) ให้กับประชากรเพิ่มเติม เท่ากับว่า ส่วนแบ่งของวัคซีนที่จะถูกส่งไปให้ประเทศยากจนหรือประเทศที่ยังไม่มีวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวก็จะน้อยลงไป และทำให้เป้าหมายการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสให้ 70% ของประชากรโลกอาจห่างไกลออกไปอีก
ปัจจุบัน มีเพียง 9 ประเทศในโลกเท่านั้น (ไม่นับประเทศเล็ก ๆ หรือที่เป็นหมู่เกาะ และไม่นับยูเออี เนื่องจากแจ้งแต่เลข % แต่ไม่แจ้งจำนวนจริงผู้ได้รับวัคซีน) ที่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 โดสให้ประชากรได้เกิน 70% ได้แก่
มอลตา ประเทศในยุโรปที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คนเพียงเล็กน้อย เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรครบโดสได้สูงที่สุดในโลก อยู่ที่ 80.29% หรือเท่ากับ 413,163 คน วัคซีนที่ใช้เป็นของจอห์นสันฯ โมเดอร์นา แอสตร้าฯ และไฟเซอร์
ไอซ์แลนด์ อีกหนึ่งประเทศจากยุโรปที่มีประชากรไม่มาก ราว 350,000 คน ฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชากรแล้ว 76.85% หรือ 263,882 คน วัคซีนที่ใช้เป็นเซตเดียวกับของมอลตา
หนึ่งเดียวจากเอเชียที่ติดในลิสต์นี้คือ สิงคโปร์ ฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้ว 75.60% หรือ 4,458,182 คน วัคซีนที่ใช้ประกอบไปด้วยโมเดอร์นา ไฟเซอร์ และซิโนแวค
กลับมาที่ยุโรป โปรตุเกส ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรครบโดสแล้ว 74.03% หรือ 7,526,823 คนจากประชากร 10 ล้านคน วัคซีนที่ใช้เป็นของจอห์นสันฯ
โมเดอร์นา แอสตร้าฯ และไฟเซอร์
ยังอยู่กันที่ยุโรป เดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการตรวจหาเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในโลก ก็ไม่น้อยหน้าในเรื่องของการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะฉีดครบโดสให้ประชากรไปแล้ว 72.78% หรือเท่ากับ 4,230,741 คน วัคซีนที่ใช้เป็นของ จอห์นสันฯ โมเดอร์นา และไฟเซอร์
ถัดมาในแถบอเมริกาใต้กันบ้าง อุรุกวัย ฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้ว 72.09% หรือ 2,512,476 คน วัคซีนที่ใช้เป็นแอสตร้าฯ ไฟเซอร์ และซิโนแวค
ต่อมายังคงเป็นประเทศในโซนยุโรปอย่าง สเปน ซึ่งเพิ่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสให้ประชากรทะลุ 70% ได้เมื่อไม่นานมานี้เอง โดยปัจจุบันฉีดไปแล้ว 71.46% ของประชากรทั้งประเทศ เท่ากับ 33,404,577 ล้านคน วัคซีนที่ใช้เหมือนกับประเทศยุโรปส่วนใหญ่ คือ จอห์นสันฯ โมเดอร์นา แอสตร้าฯ และไฟเซอร์
ทางด้าน ชิลี ฉีดครบโดสไปแล้ว 71.37% หรือ 13,712,047 คน วัคซีนที่ใช้จะดูแตกต่างจากประเทศอื่นเล็กน้อย ประกอบด้วย แคนซิโน แอสตร้าฯ ไฟเซอร์ และซิโนแวค
สุดท้ายคือ เบลเยียม ฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชากรทะลุ 70% มาหมาด ๆ อยู่ที่ 70.16% หรือเท่ากับประชากร 8,161,019 คน วัคซีนที่ใช้คือ จอห์นสันฯ โมเดอร์นา แอสตร้าฯ และไฟเซอร์
จะสังเกตได้ว่า จากทั้ง 9 ประเทศ มีถึง 6 ประเทศที่มาจากภูมิภาคยุโรป และวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ก็คล้ายคลึงกัน เพราะส่วนใหญ่มาจากการจัดสรรของสหภาพยุโรป (อียู) และส่วนใหญ่เป็นประเทศประชากรน้อยไม่ถึง 10 ล้านคน
สำหรับประเทศไทยเอง มีการฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชากรไปแล้วกว่า 8.25 ล้านคน หรือคิดเป็น 11.81% ของประชากรทั้งประเทศ วัคซีนที่ใช้เป็นของแอสตร้าฯ ไฟเซอร์ ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ซึ่งจะบอกว่าห่างไกลจากเป้าหมาย 70% ก็อาจจะพอได้ ล่าสุดเมื่อ 4 ก.ย. 2564 ไทยฉีดวัคซีน ที่จำนวน 369,512 โดส วัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 4 ก.ย. 2564) รวม 35,587,676 โดส
โดยต่างประเทศคาดการณ์ว่า หากไทยฉีดวัคซีนได้วันละ 500,000-600,000 ต่อวันและคงที่ในระดับนี้ จะบรรลุเป้าหมายใน 110 วัน หรือช่วงปลายเดือน ธ.ค. ปีนี้ได้
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ในทางปฏิบัติไทยจะสามารถรักษาระดับการฉีดวัคซีนไว้ที่ตัวเลขดังกล่าวได้หรือไม่ และหากไม่ได้ ก็จำเป็นต้องดูว่าปัญหาอยู่ที่ใด เป็นเพราะวัคซีนไม่เพียงพอ เป็นเพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในวัคซีน และจะต้องแก้ไขให้ได้โดยเร็ว เพราะที่สุดแล้ว การมีอยู่ของวัคซีนโควิด-19 ก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้วัคซีนทางเลือกเริ่มมีเข้ามามากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งชิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ และโมเดอน่า ซึ่งโดยรวมน่าจะทำให้ยอดฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นใกล้เคียงเป้าหมายได้
ที่มา : PPTV, Bank of Thailand scholarship