รัฐบาลเตรียมมาตรการดึงชาวต่างชาติ "ศักยภาพสูง" พำนักระยะยาว 4 กลุ่มเป้าหมาย 1 ล้านคนเข้าไทย กระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท
Highlight
ชาวต่างชาติ 4 กลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลเสนอให้วีซ่าอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทศ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและหนุนการเติบโตภาคอสังหาริมทรัพย์
•กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง
•กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
•กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
•กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 14 กันยายน 2564 เห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay)
ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบมาตรการที่เกี่ยวกับการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa) เพื่อรองรับผู้มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ได้แก่
1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง โดยต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนดอลลาร์ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 8 หมื่นดอลลาร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีสินทรัพย์ขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์
2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ โดยมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 2.5 แสนดอลลาร์ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 4 หมื่นดอลลาร์ หรือมีเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 8 หมื่นดอลลาร์ (กรณีไม่มีการลงทุน)
3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยโดยมีรายได้ส่วนบุคคล เช่น เงินเดือนหรือรายได้จากการลงทุนปีละ 8 หมื่นดอลลาร์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหรือปีละ 4 หมื่นดอลลาร์ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป, ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา, ได้รับทุนจาก Series A ที่เป็นการร่วมทุนในเวนเจอร์ฟันด์หรือสตาร์ทอัพ และมีประสบการณ์การทำงาน 5 ปีขึ้นไป
4. กลุ่มที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยมีรายได้ปีละไม่น้อยกว่า 8 หมื่นดอลลาร์ในช่วง 2 ปีหรือปีละ 4 หมื่นดอลลาร์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวระดับคุณภาพ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหารคุณภาพสูง หุ่นยนต์ การบิน เชื้อเพลิงชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ชาวต่างชาติจะได้รับ ได้แก่
1. สิทธิประโยชน์ วีซ่าผู้พำนักระยะยาวใหม่ (LTR visa) อายุ 10 ปี รวมถึงผู้ติดตาม หรือคู่สมรสและบุตร
2. ได้รับใบอนุญาตทำงานอัตโนมัติหลังจากอนุมัติ LTR
3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยในอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเช่นเดียวกับผู้ถือสัญชาติไทย
4. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ
5. สิทธิในการเป็นเจ้าของ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว (รวมที่ดิน) 6.มีสิทธิ์เลือกจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยในอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเช่นเดียวกับผู้ถือสัญชาติไทย หรืออัตราภาษีเงินได้คงที่ที่ร้อยละ 17 เช่นเดียวกับ EEC (ให้เฉพาะกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ได้คาดระยะเวลาดำเนินการมาตรการ ฯ ภายใน 5 ปีงบประมาณ (65-69) จะช่วยเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในไทย 1 ล้านคน เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท
ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพียงพอให้กับภาคธุรกิจที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (61 – 80) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบตามที่ สศช. เสนอให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ภาพรวมโครงการฯ ทุกๆ 5 ปี รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการถือของที่ดินก็ให้สิ้นสุดหลังจากวันที่เริ่มบังคับใช้แล้ว 5 ปี รวมทั้งให้ประเมินมาตรการต่างๆ เห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศก็สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ตามความเหมาะสมด้วย
โดยคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ สศช. ดำเนินการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา : เพจไทยคู่ฟ้า กรุงเทพธุรกิจ