คลังมีมติขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% จากเดิม 60% รองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบโควิด-19
Highlight
คลังมีมติขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% จากเดิม 60% รองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 โดยคาดว่าจะสามารถกู้เพิ่มได้ถึง 2 ล้านล้านบาท โดยแผนดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์และภาคธุรกิจ เนื่องจากการก่อหนี้สาธารณะใกล้ถึงเพดานในปัจจุบัน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมเมื่อ 20 กันยายน คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกิน 60% เป็นต้องไม่เกิน 70%
จากการขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 10% ทำให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้นราว 2 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะภาครัฐอยู่ในระดับประมาณ 58% ในปีงบประมาณ 2564 หรือในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งใกล้ถึงเพดานเงินกู้ที่กำหนดไว้เดิม
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว เป็นการเปิดช่องให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแะสามารถนำมาใช้ในโครงการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้
ทั้งนี้ การทบทวนกรอบสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้เป็นไปตามความในมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุกสามปี คือ การขยายกรอบเพดานการก่อหนี้ให้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี จากปัจจุบันที่อยู่ไม่เกิน 60% ของจีดีพี
แหล่งข่าวกล่าวว่า กรอบเพดานการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจำนวนประมาณ 10% นั้น จะทำให้รัฐบาลมีช่องทางการกู้เงินได้เพิ่มอีกราว 2 ล้านล้านบาท โดยคิดจากระดับหนี้สาธารณะที่คาดการณ์ว่า จะอยู่ในระดับ 58.8% ในสิ้นปีงบประมาณ 2564 หรือ สิ้นเดือนก.ย.นี้
ทั้งนี้ มีการมองว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ หากรัฐบาลไม่กู้เงินเพิ่ม ระดับเพดานการก่อหนี้ก็อาจจะทะลุเกิน 60% ต่อจีดีพี เนื่องจาก ระดับจีดีพีของประเทศนั้น อาจขยายตัวในอัตราต่ำหรือมีโอกาสจะติดลบได้ในปีนี้ หากโควิด-19 ยังระบาดกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงเห็นควรที่จะขยับกรอบเพดานการก่อหนี้
ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลัง ได้ออก พ.ร.ก.เงินกู้รวม 2 ฉบับ เป็นวงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาล ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากช่วงก่อนโควิด ซึ่งอยู่ราว 41% ของจีดีพี
วิกฤตโควิดมีผบกระทบอย่างมากต่อธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน ทำให้ภาครัฐต้องใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำมหาศาล และมากกว่าวิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมา