30 กันยายน 2564
3,117

APEC กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปี 2565

Highlight

นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคอีกครั้ง ในปี 2565 ที่กรุงเทพฯ หลังจากที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาแล้วในปี 2546 “APEC หรือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เป็นการรวมกลุ่มแบบพหุภาคี ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก มีประชากรรวมกันเกือบ 3 พันล้านคน และมีมูลค่าการค้าครึ่งหนึ่งของการค้าโลก การประชุมในแต่ละครั้ง จึงได้รับความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจและประชากรในกลุ่มมากถึงครึ่งหนึ่งของโลกนั่นเอง


“APEC” น่ารู้

ทุกท่านอาจจะเคยเห็นภาพข่าวการประชุมเอเปคที่มีผู้นำทั่วโลกมารวมตัวกันในการประชุมประจำปี โดยเฉพาะในปี 2546 ที่ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพเอเปคมาแล้ว  และในปีหน้า 2565 ที่กำลังมาถึงนี้ ประเทศไทยก็จะได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้อีกครั้ง ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี 2565 

วันนี้เราจะมาทบทวนทำความรู้จักกับเอเปคกันอีกครั้งว่า เอเปคคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

APEC ชื่อเต็มๆ คือ Asia-Pacific Economic Cooperation มีชื่อภาษาไทยว่า “กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”

เป็นการรวมกลุ่มแบบพหุภาคี ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก

สมาชิกเอเปคหารือกันในประเด็นทางเศรษฐกิจ โดยเน้นเรื่องความร่วมมือทางการค้า และการลงทุน การอำนวยความสะดวกให้สมาชิกที่มีแนวนโยบายที่แตกต่างกัน สามารถเข้ามาพูดคุย และหาแนวทางร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย

เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือที่มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องวัฒนธรรมและระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมีประชากรรวมกันเกือบ 3 พันล้านคนและมีมูลค่าการค้าครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

จริงๆ แล้ว เอเปคไม่ใช่แค่การประชุมผู้นำประจำปี แต่เป็นกระบวนการที่ประชุมปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี มีผู้แทนที่มีส่วนร่วมราว 20,000 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลหลายระดับ รวมทั้งแทนภาคธุรกิจและภาควิชาการ ที่มาเข้าร่วมการประชุม

สำหรับหัวข้อในการประชุมของเอเปคนั้น มีตั้งแต่เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจของทุกภาคส่วน พลังงาน สาธารณสุข e-Commerce ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่า สินค้า บริการ การลงทุน รวมทั้งผู้คน สามารถเคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กันได้สะดวกปลอดภัย มีระเบียบกฎเกณฑ์ มีมาตรฐาน ภายใต้นโยบายที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างกันในภูมิภาค

จุดเด่นของเอเปคอีกเรื่องหนึ่ง คือ รูปแบบการปฏิสัมพันธ์กันของเขตเศรษฐกิจ สมาชิก เอเปคมีความเป็นทางการน้อยกว่าการประชุมในกรอบอื่นๆ เขตเศรษฐกิจสมาชิกไม่ว่าเล็กหรือใหญ่มีเสียงเท่าเทียมกันในการตัดสินใจ และสามารถนำผลลัพธ์ไปใช้โดยสมัครใจและเมื่อมีความพร้อม
 
เอเปคจึงเป็นเสมือนห้องทดลองที่สามารถพัฒนาแนวคิดจนประสบความสำเร็จและนำไปสู่การปฏิบัติในหลายประเด็น เช่น บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) เป็นต้น
 
ในปี 2565 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค จึงมีบทบาทสำคัญในการสานต่อภารกิจและเสนอข้อริเริ่มทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน การฟื้นฟูการเดินทาง ไปจนถึงการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม (Sustainable and Inclusive Growth) เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ดีขึ้น

ขอเชิญชวนทุกท่านติดตามข่าวสารการเป็นเจ้าภาพเอเปคของประเทศไทยจากช่องทางสื่อของกระทรวงการต่างประเทศและช่องทางของ APEC 2022 THAILAND ได้ในเร็วๆ นี้ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียของ กระทรวงการต่างประเทศ 

  • Website : www.mfa.go.th
  • FB : กระทรวงการต่างประเทศ 
  • Youtube : MFA Thailand Channel 
  • Twitter : @MFAThai
  • Instagram : mfa_thailand
  • Line@ : @mfa_thailand
  • TikTok : @mfathai
  • Blockdit : MFAThai
ติดต่อโฆษณา!