09 ธันวาคม 2564
4,126

บัวแก้วตัดสินแล้วสัญลักษณ์ APEC 2565 “ชะลอม” ไทยใช่ที่สุด

Highlight

“ชะลอม” การสานเอกลักษณ์งานหัตถกรรมพื้นถิ่นไทย เปรียบสายสัมพันธ์ของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ที่มีความแข็งแรงและหยืดหยุ่น ด้านวัสุดไม้ไผ่ สื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำมารีไซเคิล มีความคงทนเป็นความร่วมมืออย่างยั่งยืน


เรียกได้ว่าคัดสรรอย่างเข้มข้น สำหรับกระทรวงการต่างประเทศ กับการประกวดการออกแบบตราสัญลักษณ์ การประชุม APEC ประจำปี 2565 ที่ประเทศไทยหวนกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง หลังผ่านมาเกือบ 20 ปี

ล่าสุดประกาศผลรางวัลชนะเลิศเป็นที่เรียบร้อย โดยผู้ชนะเลิศครั้งนี้ คือ นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง (วิว) นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับการตีความอย่างตอบโจทย์นำเสนอ “ชะลอม” เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมาย ของการประชุม  APEC  ได้อย่างครอบคลุม

สำหรับที่มาของแรงบันดาลใจ นิสิตคนเก่งเปิดเผยว่า เริ่มต้นจากการค้นหาสัญลักษณ์ ที่สามารถสะท้อนความเป็นไทย และตัวตนของ APEC พร้อมกับคำถามถึงปัจจัยอะไรสำคัญที่สุดของทุกคน ก่อนค้นพบว่า คือ “เวลา” คือคำตอบ และสิ่งที่อยู่กับคนไทยมานาน เป็นดั่งตัวแทนภาพการค้าและเศรษฐกิจนั่นคือ “ชะลอม” นั่นเอง

โดยการสานเอกลักษณ์งานหัตถกรรมพื้นถิ่นไทย เปรียบสายสัมพันธ์ของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ที่มีความแข็งแรงและหยืดหยุ่น ขณะที่วัสุดไม้ไผ่ สื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำมารีไซเคิล มีความคงทนเป็นความร่วมมืออย่างยั่งยืน

ในส่วนการเลือกใช้สี ชวนนท์ แทนสีน้ำเงิน (Convenience  Blue) คือ 21  เขตเศรษฐกิจ สีชมพู (Connection Pink) ตัวแทนของการเชื่อมต่อกันของเหล่าสมาชิก  และสีเขียว (Sustainable Green) บ่งบอกประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อความเติบโตอย่างยั่งยืน

ท้ายสุดนิสิตคนเก่ง ยอมรับดีใจและเป็นเกียรติอย่างมาก ที่สามารถชนะการประกวด และสร้างภาพจำให้ชะลอมไทย ได้เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก

พร้อมกันนี้เจ้าตัวยังเชิญชวนคนไทย มาร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี สำหรับการประชุมเอเปคในปี 2565 ที่จะถึง และทำให้เห็นว่าประเทศไทยหลังจากยุคโควิดนั้น สวยงามและมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจเพียงใด

ติดตามข่าวสารการประชุม APEC 2022 

FB: https://www.facebook.com/APEC2022Thailand

IG: https://www.instagram.com/apec2022th/

Twitter: https://twitter.com/APEC2022TH

LinkedIn: https://www.linkedin.com/company/apec2022thailand

ติดต่อโฆษณา!