“ไบเดน” คาดรัสเซียเตรียมโจมตียูเครน ลั่นถ้าบุกจริงสหรัฐฯพร้อมคว่ำบาตร
Highlight
สถานการณ์ชายแดนยูเครน-รัสเชียระอุ หลังรัสเซียเคลื่อนพลเรือนแสนประชิดแนวชายแดนตอบโต้ยูเครนที่กำลังมีท่าทีจะเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซีย ในขณะที่ยูเครนซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับรัสเซียเกิดความวิตกกังวล โดยครั้งล่าสุดนี้มีขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อนที่ได้เกิดวิกฤตการณ์ไครเมีย ซึ่งรัสเซียได้ยึดและผนวกดินแดนในคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นของตนเอง อีกทั้งยังสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนให้รบกับรัฐบาลยูเครนเป็นพื้นที่วงกว้างทางภาคตะวันออกของประเทศ ทำให้สถานการณ์ปะทุเป็นช่วงๆ และเริ่มรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในครั้งนี้สร้างความกังวลต่อยูเครนและยุโรปมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงท่าทีตอบโต้หากรัสเซียเคลื่อนกำลังทหารเข้าไปในยูเครนตามที่ได้สั่งสมกำลังพลบริเวณชายแดน ราว 90,000 -100,000 นาย ขณะเดียวกันก็เตือนรัสเซียว่าอาจต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรทางการเงิน เศรษฐกิจ และมาตรการอื่น ๆ หากคิดจะบุกยูเครนเต็มรูปแบบ
ปธน.ไบเดน คาดว่า ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะเคลื่อนกำลังทหารเข้าไปในยูเครน ทั้งนี้ถ้อยแถลงของ ปธน.ไบเดนกล่าวขึ้นในงานแถลงข่าวครบรอบ 1 ปีของการดำรงตำแหน่งปธน.สหรัฐ โดยพยายามพูดถึงความสำเร็จและผลงานของรัฐบาลสหรัฐในปีที่ผ่านมา แม้ประเด็นสำคัญด้านนิติบัญญัติและปัญหาภายในประเทศจะคืบหน้าไปอย่างยากลำบากก็ตาม
ปูตินอาจตัดสินใจบุกยูเครน
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯกำลังเรียกร้องให้รัสเซียเลือกใช้วิธีทางการทูตนั้น สหรัฐฯเองก็ยังมีความกังวลอยู่ว่า ปธน.ปูตินอาจตัดสินใจบุกยูเครนต่อไปเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเชียเมื่อปี 2557 ทั้งนี้โดยรัสเซียส่งกำลังทหารเกือบ 100,000 นายไปประชิดบริเวณแนวชายแดนยูเครน และสหรัฐมองว่า รัสเซียอาจเพิ่มกำลังพลเป็น 2 เท่าในเร็ว ๆ นี้
ปธน.ไบเดนกล่าวว่า “หากรัสเซียเคลื่อนกองกำลังทหารที่สั่งสมอยู่บริเวณชายแดนจริง หายนะจะเกิดขึ้นกับรัสเซียหากยังบุกยูเครนต่อไป”
“พันธมิตรและเพื่อนของเราพร้อมที่จะตอบโต้รัสเซียอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญและจะสร้างความเสียหายต่อรัสเซียด้วย” ปธน.ไบเดนกล่าว พร้อมเสริมว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาอาจรวมถึงการจำกัดไม่ให้รัสเซียเข้าถึงเงินดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนเชื่อว่า ปธน.ปูตินไม่ต้องการ “สงครามเต็มรูปแบบ” แต่มีแนวโน้มที่จะ “ทดสอบ” สหรัฐและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ในทางใดทางหนึ่ง
สหรัฐเตรียมแบนไม่ให้รัสเซียเข้าถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้สหรัฐฯได้เตือนบริษัทในอุตสาหกรรมชิปของสหรัฐให้เตรียมตัวรับมือเกี่ยวกับข้อกำหนดในการส่งออกฉบับใหม่ โดยระบุว่า หากรัสเซียทำการโจมตียูเครน สหรัฐฯ อาจใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการแบนไม่ให้รัสเซียเข้าถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
นายปีเตอร์ ฮาร์เรลล์ และนายทารัน ชฮาบรา เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับบรรดาผู้บริหารของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (SIA) ให้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
“สภาความมั่นคงแห่งชาติกล่าวถึงสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญในยูเครนอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน โดยตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และอาจเป็นการบุกรุกข้ามพรมแดนที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2” ผู้อำนวยการ SIA กล่าว
SIA พยายามประเมินความเป็นไปได้เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐจะนำมาบังคับใช้ ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรทางการเงิน การขยายข้อจำกัดการส่งออกไปยังรัสเซีย เช่นเดียวกับที่เคยบังคับใช้กับอิหร่านและเกาหลีเหนือ ตลอดจนกฎที่ให้อำนาจรัฐบาลในการสกัดกั้นการขนส่งสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศไปยังหัวเว่ย
รัสเซีย-จีน-อิหร่าน ร่วมซ้อมรบ
ด้านรัสเซียเดินหน้าซ้อมรบร่วมกับ จีน และอิหร่าน ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ของทางการอิหร่านรายงานว่า มีการดำเนินการซ้อมรบทางทะเลร่วมครั้งที่ 3 ในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ
พลเรือตรีมุสตาฟา ทาเจ็ดดินี โฆษกการฝึกซ้อมร่วมให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ทางการของอิหร่านว่า นาวิกโยธินจากกองกำลังติดอาวุธและกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านกำลังร่วมซ้อมรบ “2022 Marine Security Belt” บนพื้นที่ 17,000 ตารางกิโลเมตร (6,560 ตารางไมล์)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การฝึกซ้อมร่วมจะประกอบด้วยการฝึกยุทธวิธีต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือเรือที่ถูกไฟไหม้, การช่วยเหลือเรือที่ถูกปล้น และการยิงเป้าหมายทางอากาศในตอนกลางคืน
นายทาเจ็ดดินีเสริมว่า การซ้อมรบเริ่มขึ้นในช่วงเช้าของวันนี้ (21 ม.ค.) โดยทั้ง 3 ประเทศได้เริ่มซ้อมรบทางทะเลร่วมกันเมื่อปี 2562 ในมหาสมุทรอินเดียและบริเวณอ่าวโอมาน
นายทาเจ็ดดินีระบุว่า “เป้าหมายของการซ้อมรบครั้งนี้คือ การเสริมสร้างเสถียรภาพและรากฐานในภูมิภาค ตลอดจนขยายความร่วมมือพหุภาคีระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อร่วมกันส่งเสริมสันติภาพโลก เสถียรภาพทางทะเล และสร้างชุมชนทางทะเลที่มีอนาคตร่วมกัน”
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี ผู้นำอิหร่าน ได้ดำเนินตามนโยบาย “มองตะวันออก” เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อีกทั้งอิหร่านยังเข้าร่วมกับองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) เมื่อเดือนก.ย. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงในเอเชียกลางที่นำโดยรัสเซียและจีน
รัสเซียอาจตอบโต้ด้วยการหยุดส่งออกพลังงานให้ยุโรป
นายวิลเลียม แจ๊กสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายตลาดเกิดใหม่ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็นว่า ยุโรปจะต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย ตอนนี้ปริมาณก๊าซในคลังสำรองยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่ว่าประเทศอื่นจะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อการส่งออกพลังงานของรัสเซีย หรือรัสเซียจะใช้การส่งออกก๊าซเป็นเครื่องต่อรองก็ตาม ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปก็อาจจะยังสูงอยู่ดี
สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยมีรายงานหลายครั้งว่า กองกำลังรัสเซียได้เข้าประชิดชายแดนยูเครน ซึ่งวิกฤตดังกล่าวนำไปสู่การส่งสัญญาณว่าสหรัฐอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพื่อหยุดยั้งการรุกรานยูเครน ขณะที่แคปิตอล อีโคโนมิกส์ มองว่าหากการคว่ำบาตรเกิดขึ้นจริง ราคาก๊าซในยุโรปอาจพุ่งสูงอีกครั้งจากการตอบโต้ของรัสเซียและต้องติดตามว่ารัสเซียจะบุกยูเครนหรือไม่ โดยทั้งสองประเทศนี้มีข้อขัดแย้งกันมายาวนาน