เจาะ 5 ทางออกวิกฤตยูเครน หากไม่อยากเห็นสงครามกับรัสเซียปะทุ
Highlight
ราคาน้ำมันยังพุ่งต่อ นักวิเคราะห์คาดว่าอาจเห็นที่ราคา 150 เหรียญต่อบาร์เรล ถ้ารัสเซียบุกยูเครนขึ้นมาจริงๆ ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครวางใจ ราคาน้ำมันก็ยังไม่ลดลงมา ยังคงกดดันราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ด้านสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรนาโตก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่ารัสเซียเดินหน้าถอนทหารออกจากพรมแดนรัสเซีย แต่นักวิเคราะห์ได้พยายามมองในแง่ดีว่า การศึกสงครามจะไม่เกิดขึ้น พร้อมเปิด 5 ทางออกจากวิกฤตครั้งนี้
หากเกิดสงคราม การปะทะกันทางทหารเกิดขึ้นจริง นักวิเคราะห์ประเมินกันว่าน่าจะมีคนต้องสังเวยชีวิต ทั้งทหารและพลเรือน ไม่น้อยกว่า 75,000 คน และอีกนับล้านอาจต้องพลัดถิ่น
เศรษฐกิจในพื้นที่ และในภูมิภาคอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง, ราคาด้านมนุษยธรรม สุดที่จะประเมิน
ปัจจุบัน สหรัฐฯและชาติพันธมิตรนาโต ยังไม่ปักใจเชื่อว่ารัสเซียเดินหน้าถอนทหารจากพรมแดนของยูเครนอย่างที่กล่าวอ้างจริง โดยชี้ว่าเป็นเพียงคำลวง อีกทั้งยังระดมทหารอีกกว่า 7,000 นายประชิดพรมแดนมากขึ้นเสียอีก
ชาติตะวันตกต่างก็เตือนไว้ว่า "รัสเซียจะต้องเผชิญกับการตอบโต้อย่างเลวร้ายที่สุด หากก้าวเท้าข้ามพรมแดนไปยังยูเครน"
แล้วมันจะมีหนทางทางการทูตในการหาทางออกจากการเผชิญหน้าครั้งนี้ เพื่อให้จบลงอย่างสันติได้หรือไม่?
นักการทูตเองได้พยายามหาทางออกจากวิกฤตนี้เช่นกัน ชี้ว่าทุกฝ่ายสามารถออกจากเส้นทางสู่สงครามได้ หากแต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ราคาน้ำมันอาจพุ่งสูงถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือราว 3,919 บาท หากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงตึงเครียดต่อเนื่อง โดยนาตาชา คาเนวา หัวหน้ากลยุทธ์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ ของบริษัทเจพี มอร์แกน ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งน้ำมันของรัสเซียในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีกำลังการผลิตสำรองในระดับต่ำ จะมีโอกาสดันให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง
เจพี มอร์แกนเตือนว่าหากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียถูกลดเหลือครึ่งหนึ่ง ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ จะพุ่งสูงแตะ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะเป็นการทำลายสถิติราคาน้ำมันที่สูงที่สุด 147.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2551
รัสเซียเป็นชาติผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และยังเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในกลุ่มโอเปก พลัส ทำให้ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อตลาดน้ำมันในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานในภูมิภาค และชาติตะวันตกอาจคว่ำบาตรรัสเซียกระทบต่อการส่งออกพลังงาน
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่นายวลาดีเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะใช้ผลประโยชน์ในการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อต่อกรชาติตะวันตก โดยพบว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นในยุโรปทำให้ดีมานด์น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากโรงงานและโรงไฟฟ้าหันไปใช้น้ำมันในการผลิตแทน
เพราะ "การประนีประนอม" ใด ๆ ยอมแลกด้วยราคาที่ต้องจ่าย จะพามาดูหนทางออกอย่างสันติ
มาดูทั้ง 5 แนวทางกัน ว่ามีอะไรบ้าง ที่จะลดความสูญเสียได้
ชาติตะวันตกเกลี้ยกล่อมให้ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ถอยกลับไป
ภายใต้ฉากทัศน์นี้ กลุ่มมหาอำนาจตะวันตกจะต้องพยายามยับยั้งการบุกรุกใด ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการโน้มน้าวใจปธน.ปูติน ถึงผลกระทบ, ค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเสียหายต่อชีวิต, การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือการตอบโต้ทางการทูตที่จะรุนแรงขั้นสุด หากเขาเดินหน้าเข้าสู่สมรภูมิ และจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องยืดเยื้อนานไปอีกหลายปี ที่อาจจะทำให้การสนับสนุนปูตินในประเทศก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ อีกทั้งจะเป็นภัยต่อการเป็นผู้นำของเขาอีกด้วย
นาโตและรัสเซีย เห็นพ้องต่อข้อตกลงด้านความมั่นคงฉบับใหม่
เรื่องนี้กลุ่มชาติตะวันตกค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่า พวกเขาจะไม่ประนีประนอมในหลักการสำคัญ เช่น อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน, สิทธิในการแสวงหาสมาชิกของนาโต ที่จะต้อง "เปิดประตูต้อนรับ" ประเทศใด ๆ ที่ประสงค์จะเข้าร่วม
แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯและนาโต ก็ยอมรับว่ามีประเด็นร่วมกัน เพื่อแสวงหาความมั่นคงในยุโรปที่กว้างขวางมากขึ้น
อาจรวมถึง การฟื้นตัวของข้อตกลงควบคุมอาวุธที่หมดอายุลง เพื่อลดจำนวนขีปนาวุะของทั้ง 2 ฝั่ง การเพิ่มพูนความเชื่อมั่นระหว่างกองกำลังรัสเซียและนาโต มีความโปร่งใสมากขึ้นในการฝึกซ้อมทางทหาร และตำแหน่งในการติดตั้งขีปนาวุธ ตลอดจนความร่วมมือในการทดสอบอาวุธต่อต้านดาวเทียม
แต่แม้จะสามารถบรรลุประเด็นเหล่านี้ได้ รัสเซียก็อาจยังไม่พึงใจนัก เพราะประเด็นการยอมรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต ยังเป็นสิ่งที่รัสเซียเรียกร้องเป็นลำดับต้น ๆ
ยูเครนและรัสเซีย สามารถฟื้นข้อตกลงกรุงมินสค์
นี่เป็นการเจรจาตกลงกันเมื่อปี 2014-2015 ในกรุงมินสค์ เมืองหลวงของเบลารุส เพื่อหาทางยุติสงครามระหว่างรัฐบาลยูเครน กับ กลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครน
และการเจรจาดังกล่าว "ล้มเหลว" การต่อสู้ก็ดำเนินต่อไป แต่อย่างน้อยก็เป็นหนทางสู่การเจรจาหยุดยิงของทั้งสองฝ่าย
ชาติตะวันตกต่างมองว่า การรื้อฟื้อข้อตกลงกรุงมินสค์ จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับวิกฤตครั้งนี้
ปธน.เอ็มมานูเอล มาครง ระบุว่า "ข้อตกลงกรุงมินสค์ จะเป็นหนทางเดียวในการสร้างสันติภาพได้" เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์การเมืองคนอื่น ๆ
แต่ปัญหาคือ บทบัญญัติในข้อตกลง ยังมีความซับซ้อน และถูกถกเถียงกันอยู่มาก
เครมลินเรียกร้องให้ยุเครนต้องทำการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อหวังสร้างนักการเมืองโปรรัสเซีย แต่เคียฟต้องการให้มอสโกถอนกำลังทหารออกไปเสียก่อน
ยูเครนกลายเป็นชาติที่ 'เป็นกลาง' เหมือนฟินแลนด์
แต่จะทำได้ไหม? ในการให้ยูเครนกลายเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ตะวันตก หรือรัสเซีย เหมือนกับที่ฟินแลนด์เป็น
ฟินแลนด์ยึดมั่นในความเป็นกลาง ระหว่างสงครามเย็น มีความเป็นอิสระ, มีอธิปไตย และเป็นรัฐประชาธิปไตย อีกทั้งยังไม่ได้เป็นชาติสมาชิกนาโตด้วย
เคียฟจะเป็นอย่างนั้นได้ไหม? ในทางทฤษฎี ปูตินน่าจะต้องการเช่นนั้น ที่ไม่อยากให้ยูเครนเข้าร่วมกับนาโต
แต่ยูเครนหนุนเรื่องนี้ไหม? คำตอบคือ "อาจจะไม่" เพราะการเป็นกลาง จะกระทบต่อยูเครน ตรงที่ อิทธิพลของรัสเซียจะยังคงแผ่ขยายในยูเครนต่อไป และก็จะทำให้การเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต้องอยู่ไกลออกไปอีก
ปล่อยให้การเผชิญหน้าในปัจจุบัน กลายเป็นสถานภาพปกติ
นักวิเคราะห์มองว่า นี่อาจจะเป็นหนทางที่เป็นไปได้ จากสถานการณ์การเผชิญหน้าในปัจจุบัน แต่ความเข้มข้นจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปหรือไม่?
เป็นไปได้ที่รัสเซียอาจค่อย ๆ ถอนทหารกลับออกไป และประกาศว่าการซ้อมรบร่วมยุติลงแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจยังคงมีทหารและอาวุธประจำการหลงเหลืออยู่บ้าง
มอสโกอาจสามารถสนับสนุนกลุ่มฝักใฝ่รัสเซียในดอนบาสต่อไป ส่วนเศรษฐกิจและการเมืองของยูเครนก็จะถูกคุกคามโดยรัสเซียอย่างต่อเนื่อง
ส่วนยุโรปก็อาจยังประจำการกองกำลังในยุโรปตะวันออกต่อไป นักการเมืองและนักการทูตเดินหน้าเจรจากับรัสเซียต่อไป
ยูเครนก็อาจตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยก็ไม่ยกระดับขึ้นไปเป็นสงครามอย่างเต็มรูปแบบ
นักวิเคราะห์เชื่อว่า การเผชิญหน้าอย่างช้า ๆ จะค่อย ๆ หายไปจากหัวข้อข่าว และความตึงเครียดนี้ก็จะค่อย ๆ หยุดได้รับความสนใจจากประชาชน
อ้างอิง : TNN Online, CNN, Thairath