28 มีนาคม 2565
1,727

ยูเครนหวั่นรัสเซียมีแผนแยกประเทศออกเหมือนเกาหลี หากไม่สามารถครอบครองดินแดนได้ทั้งหมด

ยูเครนหวั่นรัสเซียมีแผนแยกประเทศออกเหมือนเกาหลี หากไม่สามารถครอบครองดินแดนได้ทั้งหมด
Highlight

รบไป เจรจาไป รัสเซีย-ยูเครน มีแผนเจรจาสันติภาพ หรือหยุดยิง อีกครั้ง ในช่วงวันที่ 29-30 มี.ค.นี้ แม้การสู้รบในปัจจุบันจะยึดกรุงเคียฟไม่ได้แต่ยูเครนก็เสียหายอย่างหนัก ด้านรัสเซียก็สูญเสียชีวิตทหารจำนวนมาก  ยูเครนกลัวถูกรัสเซียบีบแยกประเทศ หากกรณีที่สงครามยืดเยื้อไม่จบ ด้านญี่ปุ่นเริ่มคิดถึงการครอบครองนิวเคลียร์


ยูเครนหวั่นถูกแยกประเทศ

นายคีรีโล บูดานอฟ หัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางทหารของยูเครนกล่าวเตือนว่า รัสเซียอาจมีแผนแบ่งแยกดินแดนยูเครนออกเป็นสองประเทศ เหมือนกับที่เกาหลีถูกขีดเส้นแบ่งออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มาแล้ว หลังจากที่รัสเซียล้มเหลวในการเข้ายึดกรุงเคียฟและโค่นล้มรัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบัน

นายบูดานอฟเกรงว่า ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียจะขีดเส้นแบ่งเขตแดนเสียใหม่ โดยให้ภูมิภาคทางตะวันออกและทางตอนใต้แยกตัวเป็นเอกราช เนื่องจากไม่สามารถเข้ายึดครองยูเครนทั้งประเทศได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม นายบูดานอฟ ทำนายว่าสภาพการณ์ดังกล่าวจะไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะกองกำลังรัสเซียต้องพบกับ "การต่อสู้ไล่ล่าแบบกองโจรของยูเครน" นอกจากนี้ ยังมีการขัดขวางต่อต้านจากประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองมาริอูโปล ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กั้นขวางไม่ให้รัสเซียเชื่อมต่อดินแดนไครเมียทางใต้เข้ากับเขตอิทธิพลทางตะวันออกในภูมิภาคดอนบาสได้

กองทัพยูเครนยังยืนยันรายงานข่าวที่ว่า พลเรือนชาวมาริอูโปลหลายพันคนถูกฝ่ายรัสเซียกวาดต้อนออกจากเมืองโดยไม่สมัครใจ แล้วถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายพักหลายแห่ง ทั้งที่ตั้งอยู่ในเขตแดนประเทศรัสเซียและในเมืองบางแห่งของยูเครนที่รัสเซียยึดครองอยู่

ภาพถ่ายดาวเทียมจากบริษัท Maxar Technologies ของสหรัฐฯ ยังเผยให้เห็นค่ายกักกันที่สร้างขึ้นเป็นที่พักชั่วคราวให้ชาวเมืองมาริอูโปล 5,000 คน ที่เมืองเบซิเมนเน (Bezimenne) ซึ่งเป็นเขตยึดครองของรัสเซียที่ห่างจากเมืองมาริอูโปลไปทางตะวันออกราว 90 กิโลเมตร

นางอิรีนา เวเรชชุก รองนายกรัฐมนตรีของยูเครนระบุว่า ขณะนี้มีพลเรือนยูเครนราว 40,000 คนแล้ว ที่ถูกกองกำลังรัสเซีย "บังคับเนรเทศ" โดยในบางกรณีมีการพาตัวชาวยูเครนโดยสารรถไฟไปที่เมืองหลายแห่งในรัสเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากภูมิลำเนาของชาวยูเครนถึงกว่า 1,000 กิโลเมตร

ยูเครนเผย รัสเซียเริ่มถอนทหารบางส่วน คาดปรับกลยุทธ์สับเปลี่ยนกำลัง 

กองบัญชาการกองทัพยูเครนรายงานว่า กองกำลังรัสเซียเริ่มถอนทหารออกจากพื้นที่สู้รบหลายแห่งหลังประสบความเสียหายอย่างหนัก ทั้งในบริเวณโดยรอบกรุงเคียฟและเมืองอื่น ๆ รวมทั้งที่เมืองสลาวูทิช ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของพนักงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลและครอบครัว ที่ก่อนหน้านี้ถูกโจมตีอย่างหนัก

สำหรับเมืองบางแห่งที่ใกล้กับกรุงเคียฟนั้น กองทัพยูเครนระบุว่ารัสเซียถอนกำลังหน่วยรบเชิงยุทธวิธี 2 กองพัน โดยถอยร่นกลับเข้าไปในเขตแดนของประเทศเบลารุส ชาติพันธมิตรที่เหนียวแน่นของรัสเซีย

กองทัพยูเครนคาดว่าการถอนกำลังครั้งนี้มีขึ้น เพื่อผลัดเปลี่ยนกำลังทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เติมเสบียงอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และเครื่องกระสุนที่ขาดแคลน รวมทั้งปรับเปลี่ยนตัวบุคลากรในสายการบังคับบัญชาเสียใหม่ด้วย

ด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวให้สัมภาษณ์สื่อเสรีของรัสเซียบางสำนัก ถึงประเด็นสำคัญที่จะเป็นข้อเสนอในการเจรจาสันติภาพรอบใหม่ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศตุรกีในสัปดาห์นี้

นายเซเลนสกีระบุว่า ยูเครนพร้อมจะมีสถานะเป็นกลางในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งสละสิทธิ์การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ตามที่รัสเซียเรียกร้อง แต่จะต้องมีการทำประชามติเพื่อให้ชาวยูเครนรับรองข้อเสนอดังกล่าว และจะต้องมีประเทศที่สามเป็นผู้รับประกันความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ยูเครนด้วย

รัสเซีย-ยูเครนเตรียมจัดเจรจาสันติภาพรอบใหม่ที่ตุรกีในวันที่ 29-30 มี.ค.

นายวลาดิเมียร์ เมดินสกี หัวหน้าคณะเจรจาของรัสเซียเปิดเผยว่า คณะผู้แทนของรัสเซียและยูเครนจะจัดการเจรจาสันติภาพรอบใหม่ในวันที่ 29-30 มี.ค.นี้ โดยจะเป็นการเจรจาแบบพบหน้ากัน

“ที่ผ่านมานั้น รัสเซียได้เจรจาสันติภาพกับยูเครนทั้งในรูปแบบของการพูดคุยผ่านทางวิดีโอลิงก์และแบบพบหน้ากัน ส่วนในการเจรจารอบใหม่ในวันที่ 29-30 มี.ค.ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกีนั้น จะเป็นการเจรจาแบบพบหน้ากัน” นายเมดินสกีเปิดเผยกับสำนักข่าวเทเลแกรม

ทำเนียบประธานาธิบดีตุรกีเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้สนทนาทางโทรศัพท์เมื่อวันอาทิตย์ (27 มี.ค.) โดยได้หารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งล่าสุดระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะจัดการเจรจาสันติภาพรอบใหม่ระหว่างรัสเซียและยูเครนในวันที่ 29-30 มี.ค.นี้

ในระหว่างการสนทนาครั้งนี้ ปธน.เออร์โดกันได้กล่าวกับปธน.ปูตินว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่รัสเซียและยูเครนจะต้องบรรลุข้อตกลงหยุดหยิงและข้อตกลงสันติภาพให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรมีการคลี่คลายสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมด้วย โดยตุรกีพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้า

นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา รัสเซียและยูเครนได้จัดการเจรจาสันติภาพ 3 ครั้งผ่านการพูดคุยแบบหน้าต่อหน้า และจากนั้นได้จัดการเจรจาทางออนไลน์อีกหลายครั้ง แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้

การบุกยูเครนจะทำให้ญี่ปุ่นหานิวเคลียร์มาใช้หรือไม่?

สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า การสู้รบของรัสเซีย-ยูเครน เป็นที่จับจ้องของประเทศทั่วโลก ญี่ปุ่น เคยเป็นแระเทศที่ประสบภัยสงครามนิวเคลียร์ เป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่เผชิญกับการโจมตีด้วยนิวเคลียร์มาถึง 2 ครั้ง การหาอาวุธนิวเคลียร์มาใช้งานจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดคิดได้เลย ผู้คนคงไม่มีวันที่จะยอมรับมันแน่นอน ใช่ไหม

แต่ทว่า นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในช่วงหลังสงครามของญี่ปุ่น นายอาเบะได้เริ่มพูดกับประชาชนอย่างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นควรพิจารณาอย่างจริงจังและเร่งด่วนเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์จริง ๆ เสียที

สิ่งที่เรากำลังพูดถึงในที่นี้ คือ การละเมิดหลักการพื้นฐานของญี่ปุ่นด้วยที่รับปากในช่วงหลังสงครามว่า จะใฝ่สันติ ซึ่งเป็นสิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญสมัยหลังสงครามของญี่ปุ่นด้วย

การเรียกร้องให้ติดอาวุธที่เกิดขึ้นตรงกับช่วงที่รัสเซียบุกยูเครน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
สำหรับคนหลายคนอย่างนายอาเบะ ซึ่งปรารถนาให้มีการติดอาวุธญี่ปุ่นอย่างเต็มที่มาเป็นเวลานานแล้ว การบุกยูเครนเป็นเพียงตัวอย่างที่เป็นประโยชน์ของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศที่ไม่ปกป้องตัวเองอย่างเหมาะสมต่อเพื่อนบ้านที่ก้าวร้าวมากกว่า มีอาวุธที่ดีกว่า และมีขนาดใหญ่กว่า

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ จากสถาบันโลวี (Lowy Institute) ในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย และผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Asia's Reckoning" เชื่อว่า นายอาเบะ คิดว่า นี่คือเวลาที่เหมาะสมในการผลักดันให้เกิดการอภิปรายจริง ๆ ขึ้นในญี่ปุ่น และให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในการพยายามโน้มน้าวประชาชนชาวญี่ปุ่น

"ผมคิดว่า นั่นคือ สิ่งที่เฝ้ารอคอยมานาน ผมคิดว่า เขาอยากจะพยายามและเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งว่ากันตามตรงว่า ค่อนข้างดื้อรั้นมาโดยตลอด" เขากล่าวกับบีบีซี

คำว่า ค่อนข้างดื้อรั้น ยังถือว่าน้อยไป การสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้วพบว่า 75% ของชาวญี่ปุ่นต้องการให้ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons)

การเรียกร้องให้มีการอภิปรายกันเรื่องนิวเคลียร์ของนายอาเบะ เผชิญกับความไม่พอใจจากกลุ่มผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ด้านนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่น (ซึ่งมาจากเมืองฮิโรชิมา) ก็ได้ออกมาตอบโต้อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว โดยเรียกคำแนะนำของนายอาเบะว่า "ไม่อาจยอมรับได้"

แต่นายอาเบะ เป็นนักการเมืองที่หลักแหลม เขารู้ว่า กรณียูเครนทำให้ชาวญี่ปุ่นตกใจมาก และเขารู้ว่า ประชาชนในญี่ปุ่นกังวลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือที่มีอาวุธนิวเคลียร์และไม่อาจคาดเดาได้ และจีนที่มีความก้าวร้าวเพิ่มขึ้นด้วย

คะแนนนิยมไบเดนร่วงทำนิวโลว์ หลังชาวมะกันไม่ปลื้มเงินเฟ้อ-โควิด-วิกฤตยูเครน

ผลสำรวจของสำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์ระบุว่า ชาวอเมริกันเพียง 40% พึงพอใจกับผลการทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเป็นระดับคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันที่ร่วงลงต่ำสุด หลังดำรงตำแหน่งย่างเข้าสู่ปีที่สอง

ทั้งนี้ โพลสำรวจความเห็นระบุว่า คะแนนนิยมของปธน.ไบเดน ลดลง 3 จุดตั้งแต่เดือนม.ค. หลังจากที่ชาวอเมริกัน 71% มองว่า สหรัฐกำลังเดินผิดทาง

คะแนนนิยมที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ของปธน.ไบเดนเกิดขึ้นในช่วงที่ตัวเขานำชาติตะวันตกร่วมคว่ำบาตรรัสเซียหลังเปิดฉากบุกโจมตียูเครน ขณะที่ชาวอเมริกันเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี ประกอบกับการเข้าสู่ปีที่ 3 ที่โควิด-19 ระบาด

“สิ่งที่เห็นได้จากโพลนี้ก็คือ ปธน.ไบเดนและพรรคเดโมแครตเดินไปสู่การเลือกตั้งที่สร้างหายนะ” นายบิล แมคอินเทิร์ฟ ผู้ทำโพลสำรวจจากฝั่งรีพับลิกันของหน่วยงานสำรวจความคิดเห็น “พับลิก โอพิเนียน สแทรททิจี” (Public Opinions Strategy) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอ็นบีซี โดยนายแมคอินเทิร์ฟจัดทำผลสำรวจนี้ร่วมกับนายเจฟ ฮอร์วิตต์ ของฮาร์ต รีเสิร์ช แอสโซซิเอทส์ (Hart Research Associates) จากฝั่งพรรคเดโมแครต

รายงานระบุว่า ผลสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจความเห็นชาวอเมริกัน 1,000 คนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 3.1% โดยในจำนวนนี้ 790 คนเป็นผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง

อ้างอิง : BBC,  Infoquest

ติดต่อโฆษณา!