05 เมษายน 2565
1,585

ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ปูติน “ห้าม” ประเทศไม่เป็นมิตร เดินทางเข้ารัสเซีย

ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ปูติน “ห้าม” ประเทศไม่เป็นมิตร เดินทางเข้ารัสเซีย
Highlight

แม้ดูเหมือนว่ารัสเซียต้องสู้กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐและยุโรปอีกหลายประเทศที่พากันกดดันด้วยการคว่ำบาตร จนทำให้เงินรูเบิลอ่อนค่าอย่างน่าใจหายในช่วงต้นเดือนมีนาคม แต่ถ้าพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันรัสเซียแก้เผ็ดโดยการรับชำระค่าพลังงานด้วยเงินรูเบิลและต้องเอาทองคำมาแลก แถมลดค่าลง 25% เพิ่มมาตรการงดวีซ่าเข้าประเทศของกลุ่มไม่เป็นมิตร หันไปค้ากับจีน อินเดีย ก็ยังดูไม่ออกว่าจะต้อนรัสเซียจนมุมได้อย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป


สงครามด้านเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับกลุ่มยุโรปและสหรัฐ ก็เข้มข้นขึ้นทุกวัน มาตรการคว่ำบาตรฆ่ารัสเซียไม่ตาย แถมยังถูกย้อนกลับแบบเจ็บแสบ!

รัสเซียแบนประเทศ”ไม่เป็นมิตร” ระงับการออกวีซ่าเข้าประเทศ

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกาวันจันทร์ (4เม.ย.) ระบุว่า รัสเซียจะระงับการออกวีซ่าให้แก่ผู้ที่เดินทางจาก "ประเทศที่ไม่เป็นมิตร" ต่อรัสเซีย โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลทันที

นอกจากนี้ ปธน.ปูติน ยังมีคำสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการออกวีซ่าให้แก่ชาวต่างชาติหรือบุคคลไร้สัญชาติที่กระทำการอันไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย

การลงนามดังกล่าวถือเป็นการออกกฤษฎีกาฉบับที่สองของปธน.ปูตินเพื่อตอบโต้ประเทศที่คว่ำบาตรรัสเซีย หลังจากที่เขาได้ลงนามในกฤษฎีกาฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ระบุว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ประเทศที่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะต้องชำระเงินเป็นสกุลรูเบิลเท่านั้น หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว สัญญาการซื้อก๊าซก็จะถูกระงับ

ทั้งนี้ ประเทศที่ถูกระบุในรายชื่อ "ไม่เป็นมิตร" ของรัสเซีย คือประเทศที่ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย หลังจากที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ประเทศและดินแดนที่ปรากฎในรายชื่อที่ไม่เป็นมิตรของรัสเซีย ได้แก่ สหรัฐ, แคนาดา, สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร (รวมทั้งดินแดนในอาณัติ ได้แก่ เจอร์ซีย์, แองกวิลลา, หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน และยิบรอลตา), ยูเครน, มอนเตเนโกร, สวิตเซอร์แลนด์, อัลเบเนีย, อันดอร์รา, ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, โมนาโก, นอร์เวย์, ซาน มาริโน, นอร์ท มาซิโดเนีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, ไมโครนีเซีย, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์ และไต้หวัน

อังกฤษหนุนขับรัสเซียพ้นคณะกก.สิทธิฯยูเอ็น เหตุก่ออาชญากรรมสงคราม

นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวเรียกร้องให้มีการระงับสมาชิกภาพของรัสเซียในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หลังมีการพบร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมากในยูเครน

 "เนื่องจากมีการพบหลักฐานของการก่ออาชญากรรมสงคราม รวมทั้งมีการพบหลุมฝังศพและร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมากในเมืองบูชาของยูเครน รัสเซียจึงไม่อาจเป็นสมาชิกในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้อีกต่อไป" นางทรัสส์กล่าว

ด้านประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เรียกร้องให้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำตัวประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ขึ้นศาลในฐานะอาชญากรสงคราม หลังมีการพบผู้เสียชีวิตจำนวนมากในยูเครน

"เขาเป็นอาชญากรสงคราม นายคนนี้เป็นคนโหดร้าย ซึ่งทุกคนเห็นแล้วจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองบูชา และเขาต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น" ปธน.ไบเดนกล่าว

ปธน.ไบเดนยังกล่าวว่า สหรัฐเตรียมคว่ำบาตรรัสเซียมากขึ้นเพื่อตอบโต้ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในยูเครน

ผู้นำสหรัฐกล่าว หลังสื่อรายงานการพบร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมากในเมืองบูชา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเคียฟ โดยนายกเทศมนตรีเมืองบูชาระบุว่า ผู้เสียชีวิต 280 รายถูกฝังในสุสานของเมือง ขณะที่ภายในเมืองเกลื่อนไปด้วยร่างผู้เสียชีวิต

ด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนในข่วงที่ผ่านมา ซึ่งการสังหารโหดที่เกิดขึ้นถือเป็นการก่อคดีอาชญากรรมสงคราม และถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ชาติ EU แตกคอการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียโดยเฉพาะเยอรมัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี คริสเตียน ลินด์เนอร์ ปฏิเสธมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่สหภาพยุโรปเตรียมนำมาใช้ ขณะที่อียูถูกกดดันมากขึ้นให้ใช้มาตรการลงโทษภาคพลังงานของรัสเซีย ตามรายงานของรอยเตอร์ 

รัฐมนตรีลินด์เนอร์ กล่าวระหว่างการร่วมประชุมกับบรรดารัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอียูที่กรุงบรัสเซลล์เมื่อวันจันทร์ (4เม.ย.)ว่า เป็นที่ชัดเจนว่าสหภาพยุโรปต้องยุติความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียให้เร็วที่สุด และต้องมีมาตรการลงโทษที่รุนแรงกว่าเดิม แต่เราก็ยังไม่สามารถหาแหล่งทดแทนก๊าซจากรัสเซียได้ในระยะสั้นเช่นกัน ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเราเองมากกว่ารัสเซีย

รัฐมนตรีการคลังเยอรมนีแนะนำว่า แทนที่จะใช้วิธีคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานทั้งหมดจากรัสเซีย อียูควรใช้วิธีลงโทษไปที่เชื้อเพลิงแต่ละประเภทแบบแยกส่วนกัน เนื่องจากแหล่งทดแทนน้ำมันนั้นสามารถหาได้ง่ายกว่าแหล่งทดแทนก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้ รัสเซียคือผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนประเทศนยุโรปเป็นสัดส่วนราว 40% ของปริมาณที่ใช้ทั้งหมดในยุโรป และเยอรมนีคือหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรมชาติจากรัสเซียมากที่สุด

หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนก.พ. รัฐบาลเยอรมันก็ประกาศใช้มาตรการลงโทษหลายอย่างต่อรัสเซียทันที โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้นำรัฐบาล นักการเมือง นักธุรกิจ และภาคธุรกิจที่สำคัญของรัสเซีย แต่กลับยังไม่ระงับการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินจากรัสเซีย ด้วยเกรงว่าจะสร้างความเสียหายต่อเยอรมนีเอง

นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมันอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยหากคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย

รัสเซียเอาคืนสหรัฐ ยุโรป แบบแสบสันต์ ซื้อน้ำมันต้องใช้ทองคำแลกรูเบิลก่อน

การที่สหรัฐและยุโรป คว่ำบาตรรัสเซีย โดยการแบนออกจากระบบการเงินโลก (SWIFT) การแบนด้านพลังงาน และด้านอื่นๆ แม้สหรัฐ และยุโรปไม่ได้ร่วมรบกับยูเครน แต่มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจนั้นได้ทำอย่างเต็มที่ เรียกว่าเปิดฉากนิวเคลียร์ด้านเศรษฐกิจ หวังให้รัสเซียล่มสลาย แต่เริ่มส่งผลสะท้อนกลับมาสร้างความเสียหายแก่ฐานะของเงินดอลลาร์ อย่างชัดเจนในตอนนี้

ทั้งนี้รัสเซียแก้เผ็ดโดยการประกาศชูทองคำแลกรูเบิล สั่งประเทศที่ต้องการซื้อน้ำมัน ให้เอาทองคำไปแลกกับเงินรูเบิลในอัตราส่วนลดกว่า 25% ทำให้ราคาทองคำทะยานขึ้นมาแม้ราคาต่ำกว่าตลาด แต่ประเทศยุโรปที่ยังไม่ร่วมแบนน้ำมันรัสเซียต้องพากันแลกทองคำเป็นรูเบิลกันให้ควัก นอกจากนี้ยังส่งผลให้ ค่าเงินรูเบิลแข็งค่าต่อเนื่อง

วันที่ 27 มี.ค.2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางรัสเซียประกาศกติกาใหม่จะกำหนดให้ผู้ซื้อก๊าซจะต้องขนส่งทองคำไปให้ธนาคารชาติรัสเซีย เพื่อขอแลกเป็นรูเบิลโดย เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารชาติรัสเซียได้ประกาศอัตราแลกทองคำ 1 กรัมแลกได้ 5,000 รูเบิล มีผลระหว่างวันที่  28 มี.ค. ถึง 30 มิ.ย.2565

เท่ากับตีราคาทองคำเพียงประมาณ 1,475 ดอลลาร์ คือกดราคาต่ำกว่าตลาดสากลประมาณ 25% ถ้าหากรัสเซียใช้กติกานี้ ในการขายก๊าซ ก็เท่ากับว่า ยุโรปต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น 25% และราคาพื้นฐานอาจจะปรับสูงขึ้นอีกด้วยก็ได้เมื่อรวมกับค่าขนส่งในประเทศนั้นๆ

ด้าน trustforyou.com วิเคราะห์ว่า มาตรการแบบนี้เท่ากับว่ารัสเซียทำรูเบิลให้เป็น gold backed เหมือนสหรัฐทำกับดอลลาร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (WW2) ซึ่งจะทำให้ประเทศคู่ค้าเชื่อถือ ซึ่งการกำหนด 5,000 รูเบิลเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น โดยกรณีการค้าเกินดุล หรือขาดดุลระหว่างกัน ก็จะต้องมีค่าใช่จ่ายขนส่งทองคำให้กัน ไปๆ มาๆ หรืออีกทางหนึ่ง คือรัสเซียอนุญาตให้ใช้เงินคริปโตในการค้าขายกับประเทศต่างๆตามที่มีกระแสข่าวออกมา 

นอกจากนี้การแซงก์ชั่นเล่นงานรัสเซีย กลายเป็นบูเมอแรงวนกลับมาสร้างความเสียหายให้แก่ฐานะของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการยึดทุนสำรองหลายแสนล้านดอลลาร์ของแบงก์ชาติแดนหมีขาว ก่อให้เกิดคำถามถึงหลักเหตุผลแห่งการดำรงคงอยู่ของระบบการเงินในปัจจุบันกับประเทศต่างๆทั่วโลกที่เคยวางใจสหรัฐนำทองไปฝาก ชักร้อนๆหนาวๆว่าวันดีคืนดี สหรัฐไม่พอใจจะถูกยึดเอาดื้อๆ

เวลาเดียวกัน รัสเซียเพิ่งประกาศเรียกร้องให้พวกประเทศ “ไม่เป็นมิตร” ทั้งหลายต้องจ่ายค่าแก๊สธรรมชาติรัสเซียที่ส่งไปให้เป็นสกุลเงินรูเบิลของแดนหมีขาว เป็นการบังคับให้พวกลูกค้าแก๊สชาวยุโรปต้องวิ่งวุ่นซื้อเงินรูเบิลในตลาดเปิด ทำให้รูเบิลพุ่งแรงแข็งขึ้นทันตา จากที่เคยอยู่จุดต่ำสุด 140 รูเบิลแลกได้ 1 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม มาอยู่ที่ 97.5- 100 รูเบิลก็แลกได้ 1 ดอลลาร์ในวันที่ 25 มีนาคมหลังคำประกาศผู้นำรัสเซีย

ด้วยการยอมรับให้ชำระเงินในสกุลรูเบิล มันก็เท่ากับรัสเซียได้โยกย้ายสกุลเงินตราของตนเองบางส่วนออกมาจากระบบการหมุนเวียน จึงเป็นการรักษาให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเบิลอยู่ในระดับที่มั่นคงขึ้น และสยบแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากการที่เงินตรารัสเซียลดค่าลง

มาตรการแซงก์ชั่นที่มุ่งส่งผลสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของรัสเซียอย่างแรง จนมีการขนานนามว่าเป็น มาตรการ “ระเบิดนิวเคลียร์” นี้ อาจทำให้รัสเซียเกิดการหดตัว 10% ในปีนี้ และอาจลดลงไปอีก 3-4% ในปี 2023 และ 2024 ทั้งนี้ตามการคำนวณของ คลีเมนส์ แกรฟ (Clemens Grafe) นักเศรษฐศาสตร์ค่ายโกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs) แม้จะเกิดขึ้นจริง ความเสียหายระดับนี้ก็ยังยากที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นมาได้ เพราะรัสเซียเคยชินกับการโดนคว่ำบาตรจากสหรัฐมากว่า 30 ปี จึงพึ่งตนเองจนผงาดกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารป้อนโลกอย่างทุกวันนี้

ด้วยยอดขายน้ำมันและแก๊ส รัสเซียยังคงทำได้อย่างต่อเนื่องในระดับซึ่งประมาณกันว่าอยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์ต่อวันในช่วงเวลานี้ บางทีรัสเซียจะสามารถโชว์ตัวเลขการได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 200,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ได้ด้วยซ้ำ สูงขึ้นนิดหน่อยจากยอดการได้เปรียบที่ทำได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2021 แบบแปลงให้เป็นอัตรารายปีแล้ว คงอยู่ที่ 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ต้องจับตากันต่อไปว่ารัสเซียจะเผยไม้เด็ดอะไรอีกในการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกจัดหนักให้  แต่รัสเซียสวนกลับอย่างดุเดือดโดยฝั่งสหรัฐฯทำอะไรไม่ได้ เพราะรัสเซียเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สำคัญอันทรงพลังคือ น้ำมัน หรือ ทองคำดำนั่นเอง

อ้างอิง : Reuters, trustforyou.co, BangkokBiznews

ติดต่อโฆษณา!