ศรีลังกาไปต่อไม่ไหว ผิดนัดชำระหนี้ เข้าโครงการ IMF
Highlight
ศรีลังกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ประชาชนพากันออกมาประท้วงตามท้องถนนด้วยความโกรธแค้น เพื่อขับไล่ครอบครัวของประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ จนรัฐบาลต้องปราบปรามอย่างรุนแรงมีผู้บาดเจ็บล้มตาย แม้ว่า สส.ฝ่ายรัฐเองลาออกจำนวนมากแต่ไม่ยุบสภา และขอเข้าโครงการกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF
ศรีลังกาปราบผู้ชุมนุมประท้วงด้วยกระสุนจริง ตาย 1 บาดเจ็บ หลายสิบคน
เจ้าหน้าที่ตำรวจศรีลังกาใช้กระสุนจริงเพื่อสลายการชุมนุมประท้วงของประชาชนเมื่อวานนี้ (19 เม.ย.) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บกว่า 10 ราย โดยเหตุการณ์จลาจลดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลศรีลังกากำลังเจรจาเพื่อขอความช่วยเหลือเร่งด่วนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หลังจากเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่รุนแรง
เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงทั่วประเทศศรีลังกาเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ท่ามกลางความโกรธแค้นที่รัฐบาลประสบความล้มเหลวในการบริหารประเทศ จนนำไปสู่ภาวะขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและการตัดกระแสไฟฟ้าเป็นเวลานาน
การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมอาจจุดชนวนให้การประท้วงในศรีลังกาทวีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อบีบให้ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ ลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่แกนนำฝ่ายค้านของศรีลังกากล่าวว่า ปธน.ราชปักษะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชนทุกคน
เจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงโคลัมโบเปิดเผยว่า ในช่วงค่ำของวันอังคาร (19 เม.ย.) ตำรวจได้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมที่เมืองรามบุคคานา หลังจากที่การใช้แก๊สน้ำตาไม่สามารถสลายการชุมนุมได้ เนื่องจากผู้ประท้วงได้พากันปิดกั้นทางรถไฟและพยายามจุดไฟเผารถบรรทุกน้ำมัน โดยการปะทะกันเมื่อวานนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บได้รับการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง โดยขณะนี้ทางการศรีลังกาได้ประกาศเคอร์ฟิวในเมืองรามบุคคานาแล้ว
ทั้งนี้ ศรีลังกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ประชาชนพากันออกมาประท้วงตามท้องถนนด้วยความโกรธแค้น เพื่อขับไล่ครอบครัวของปธน.ราชปักษะ ขณะที่ทางรัฐบาลกำลังเร่งขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากต่างชาติวงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าและพลังงานในภาคครัวเรือน
สหภาพแรงงานในศรีลังกาได้นัดหยุดงานพร้อมกันในวันนี้ (20) เพื่อประท้วงค่าครองชีพที่แพงขึ้น ขณะที่ค่าโดยสารรถสาธารณะเตรียมปรับขึ้นอีก 35% ในวันนี้ (20) หลังจากที่ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งขึ้นเกือบ 65% ส่วนราคาขนมปังก็ปรับเพิ่มเกือบ 30%
ประชาชนประท้วงไล่ประธานาธิบดีลาออก
กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากยังคงตั้งแคมป์ปักหลักอยู่ที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดีตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
ประธานาธิบดีราชปักษา แสดงท่าทียอมรับความโกรธเกรี้ยวของประชาชนที่มีต่อการบริหารประเทศที่ผิดพลาด โดยเมื่อวันจันทร์ (18) เขาได้ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ปราศจากชื่อของสมาชิกตระกูลราชปักษา บางคน ทว่า มหินทา ราชปักษา พี่ชายของเขา ยังคงนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
การล่มสลายทางเศรษฐกิจของศรีลังกา
ภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจของศรีลังกานั้นส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากโควิด-19 ซึ่งทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวและเงินที่ชาวศรีลังกาส่งกลับประเทศลดลงมาก
สัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางศรีลังกาได้ประกาศผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 51,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้คราวนี้ก็เพื่อให้รัฐบาลสามารถนำเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในคลังไปจัดซื้ออาหาร เชื้อเพลิง ยารักษาโรค และความจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ ที่ขาดแคลนมานานหลายเดือน
ศรีลังกาเสี่ยงเป็นรัฐล้มละลาย จากวิกฤตหนักสุด นับแต่เป็นเอกราช
ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในรอบ 74 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ จากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล จนทำให้เกิดคำถามว่า ศรีลังกากำลังจะเป็นรัฐล้มละลายหรือไม่
ตลาดหลักทรัพย์โคลัมโบ หรือ CSE ปิดไปในช่วงวันหยุดปีใหม่ตามประเพณี ประกาศหยุดการซื้อขายเป็นเวลา 5 วัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่กลับประกาศหยุดการซื้อขายเพิ่มเป็นเวลา 5 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ (18 เมษายน) เป็นต้นไป หลังศรีลังกาได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว
บรรดาโบรกเกอร์คาดว่า หุ้นจะร่วงอย่างหนักในวันจันทร์นี้ หลังจากธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกือบสองเท่าของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ 14.5% หลังปิดตลาดเมื่อวันที่ 8 เมษายน ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายก่อนวันหยุด
วิกฤตครั้งนี้ทำให้ชาวศรีลังกา 22 ล้านคนต้องเผชิญความทุกข์ยาก และนำไปสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ประชาชนหลายพันคนตั้งแคมป์นอกทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกาเป็นวันที่แปดติดต่อกัน พร้อมกับตะโกนขับไล่ประธานาธิบดี
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีมหินทา ราชปักษา เสนอเชิญตัวแทนของกลุ่มผู้ประท้วงที่ปักหลักชุมนุมตรงทางเข้าทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโคลัมโบ เข้าร่วมการเจรจากับเขา โดยจะยินดีรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่รุมเร้าประเทศในขณะนี้
อย่างไรก็ดี ผู้ประท้วงบางส่วนคัดค้านข้อเสนอเจรจา โดยบอกว่าในเมื่อคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ต้องการให้เขาอยู่ต่อ ก็ควรจะพาคนทั้งตระกูลกลับบ้านไป นอกจากนี้ ผู้ประท้วงบางส่วน ยังเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับบรรดาผู้นำรัฐบาลให้ได้รับโทษจำคุกด้วย
ผู้ประท้วงในศรีลังกา ปักหลักชุมนุมติดต่อกันกว่า 1 สัปดาห์ เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา น้องชายของนายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ และขอให้ตระกูลราชปักษาพ้นจากอำนาจให้หมด
โดยกล่าวหาว่า พวกเขาทุจริตคอร์รัปชัน และบริหารประเทศผิดพลาด ทำให้ชาวศรีลังกาเดือดร้อนจากปัญหาอาหารและเชื้อเพลิงขาดแคลน และการตัดไฟวันละ 13 ชั่วโมง หลังจากประเทศมีเงินตราต่างประเทศไม่เพียงพอ เพื่อนำเข้าสินค้าและเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และยังมีภาระหนี้สูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ครบกำหนดชำระภายในระหว่าง 5 ปีข้างหน้า
ศรีลังกาขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
นายราเมช ปาทิรานา โฆษกคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกแห่งศรีลังกา กล่าวในวันนี้ว่า ศรีลังกาเปิดรับการหารือเพื่อขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์กรให้กู้ยืมระดับพหุภาคีต่าง ๆ เนื่องจากศรีลังกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในรอบหลายปี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เงินสำรองระหว่างประเทศของศรีลังการ่วงลงสู่ระดับ 2.36 พันล้านดอลลาร์ จนส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าที่จำเป็นซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็กำลังพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ศรีลังกายังมีกำหนดต้องจ่ายหนี้คืนเป็นจำนวนราว 4 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์และกลุ่มผู้นำจากพรรคฝ่ายค้านกดดันให้รัฐบาลขอความช่วยเหลือจากองค์กรอย่าง IMF เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
"เราเปิดรับการเจรจากับ IMF และผู้ให้กู้ยืมระดับพหุภาคีรายอื่น ๆ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) อยู่เสมอ" นายปาทิรานาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว
นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านบางรายยังเรียกร้องให้รัฐบาลนำเสนอต่อรัฐสภาเรื่องที่ IMF จะทำการประเมินสถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจเร็ว ๆ นี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมหารือของ IMF กับประเทศสมาชิก (Article IV Consultation) ที่มีขึ้นเป็นประจำ
"รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำเสนอเอกสารฉบับนี้ต่อรัฐสภา และชี้แจงถึงแผนแก้วิกฤตครั้งนี้อย่างยั่งยืน" นายฮาร์ชา เดอ ซิลวา ส.ส.ฝ่ายค้านกล่าว
ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก
ขณะที่พรรคซามากี จานา บาลาวีกายา หรือ SJB ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านประกาศให้เวลาประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีลาออกภายในเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้าสู่รัฐสภา โดยพรรคมองว่าเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเงื่อนไขสำคัญ ก่อนจะมีการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้
ล่าสุด บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้ง Fitch Ratings และ S&P Global Ratings ได้ลดอันดับความน่าเชื่อทางการเงินของศรีลังกา หลังพบว่า ธนาคารกลางศรีลังกาเริ่มระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศชั่วคราวแล้ว เพื่อเก็บเงินตราต่างประเทศไว้สำหรับนำเข้าสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมัน
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกากล่าวว่า การกระทำครั้งนี้มีเจตนาดี และเน้นว่า ศรีลังกาไม่เคยผิดนัดชำระหนี้มาก่อน ยืนยันการงดชำระหนี้ต่างประเทศนี้จะเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น จนกว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากโครงการเงินกู้กับ IMF
ครอบครัวที่ทรงอิทธิพล
ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตครั้งนี้ ศรีลังกาเป็นประเทศในเอเชียใต้ที่มีอันดับสูงสุดในดัชนีการพัฒนามนุษย์ และมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับสองในเอเชียใต้
วิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการล่มสลายของสกุลเงิน เงินเฟ้อพุ่งพรวดพราด ตามมาด้วยวิกฤตด้านมนุษยธรรมอันเนื่องมาจากการขาดแคลนสิ่งของจำเป็นอย่างรุนแรง
ความไม่พอใจของผู้ประท้วงพุ่งเป้าไปที่ครอบครัวราชปักษา ซึ่งยึดทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาลอีกมากมาย
ตระกูลนี้ปกครองศรีลังกาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักต่อผู้มีอำนาจที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตจนชาวบ้านไม่มีน้ำ, ไม่มีไฟฟ้า, ตกงาน และราคาข้าวของแพงอย่างรุนแรงนั้น กลายเป็นปัญหาหลัก
ทั้งประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา และนายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา ต่างใช้นโยบายกู้ยืมเงินก้อนมหาศาลจากต่างชาติ เป็นเงินกู้ที่เอาไปใช้ในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก
การผูกขาดทางอำนาจ
ศรีลังกากำลัง “ใกล้เข้าสู่ภาวะล้มละลาย” ด้วยหนี้ระหว่างประเทศราว 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีกำหนดชำระหนี้ภายในปีนี้เกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาประกาศว่า จำเป็นต้องผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ทางการศรีลังกามีกำหนดหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ในเดือนนี้ อีกส่วนหนึ่งก็ต้องกู้ยืมเงินฉุกเฉินจากจีนและอินเดีย
ไม่ใช่เพียงแต่คืนเงินกู้ แต่ยังต้องหาเงินมาซื้อหาอาหารและเชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันแสนสาหัสของประชาชนด้วย
ภาพความรันทดของชาวศรีลังกามีให้เห็นตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตระกูล “ราชปักษา” คือที่มาของปัญหาทั้งหลายทั้งปวง
เป็นที่รู้กันว่าอิทธิพลบารมีทางการเมืองของตระกูลนี้ เริ่มด้วยบทบาทของนายกรัฐมนตรี “มหินทรา ราชปักษา” ตอนที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกา ช่วงปี 2009
เขาได้รับความชื่นชอบจากประชาชนขณะนั้นด้วยผลงานที่สามารถยุติสงครามกลางเมืองจากความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ที่ลากยาวมาถึง 25 ปี
แต่นั่นไม่ได้แปลว่าตระกูลนี้จะสามารถผูกขาดอำนาจการเมืองในทุก ๆ ด้านอย่างยาวนานเช่นนี้
เพราะคนจากตระกูลนี้ได้ตำแหน่งแห่งหนในกระทรวงทบวงกรมมากมายโดยไม่ตระหนักถึงภาพลักษณ์และความรู้สึกของคนที่มองว่านี่เป็นการเมืองที่ส่งต่อจากสมาชิกคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งในครอบครัวอย่างไม่รับผิดชอบ
จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดคือการที่ชาวศรีลังการู้สึกว่า เมื่อคนในตระกูลเดียวกันบริหารบ้านเมืองในเกือบทุกมิติ ก็ย่อมจะกระทบกับความเป็นอิสระในการบริหารประเทศ
พอเกิดวิกฤต แทนที่จะแสวงหาคนที่มีความรู้ความสามารถและมืออาชีพในแก้ปัญหา กลับยังรักษาฐานอำนาจของคนกลุ่มเดียวกันเอาไว้
ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ได้เสนอการจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” เพื่อรับมือกับวิกฤตที่มีแต่เสื่อมทรามลง แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เล่นด้วย
ต่อมารัฐมนตรีหลายคนยื่นใบลาออกพร้อมกัน ตามมาด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคร่วมรัฐบาลเกือบ 40 คนก็ประกาศลาออกเช่นกัน ทำให้รัฐบาลขาดเสียงข้างมากในสภา
แต่ผู้นำตระกูลนี้ก็ยังไม่ยอมยุบสภาให้ประชาชนตัดสินชะตากรรมของตน กลายเป็นรัฐล้มละลายในภาวะล้มเหลว เพราะการเมืองที่อำนาจกระจุกตัวและนโยบายที่ผิดพลาดจนประชาชนตกนรกเศรษฐกิจกันทั้งประเทศ
อ้างอิง : Reuters, TNN Thailand, infoquest
ภาพ : Reuters