30 เมษายน 2565
1,463

จับตาสงครามขยายวง! ปูตินขู่โจมตีสายฟ้าแลบชาติตะวันตกร่วมรบยูเครน ธนาคารโลกเตือนสงครามทำราคาอาหาร-พลังงานพุ่งแรงในปีนี้

จับตาสงครามขยายวง! ปูตินขู่โจมตีสายฟ้าแลบชาติตะวันตกร่วมรบยูเครน ธนาคารโลกเตือนสงครามทำราคาอาหาร-พลังงานพุ่งแรงในปีนี้
Highlight

สงครามยูเครน-รัสเซีย ล่วงเลยมาเป็นวันที่ 66 รัสเซียยังไม่อาจปิดเกมได้ง่ายๆ  การแทรกแซงของชาติตะวันตกในการช่วยยูเครนชัดเจนมากขึ้น จนรัสเซียออกมาข่มขู่ดังๆ จะตอบโต้แบบ “สายฟ้าแลบ” ทำให้ชาวโลกหวาดหวั่นจะยืดเยื้อไปเรื่อยๆ จนไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้ ด้านธนาคารโลกเตือนราคาอาหาร พลังงานปีนี้สูงขึ้นจากผลกระทบสงคราม


“ปูติน” เตือนชาติตะวันตกเจอโต้กลับสายฟ้าแลบ หากยังข่มขู่และร่วมรบยูเครน 

ความขัดแย้งที่เริ่มขยายวง หลังจากที่รัสเซียพบว่าชาติตะวันตกสนับสนุนยูเครนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และทหาร เท่ากับว่ารัสเซียกำลังเริ่มรบกับ NATO ไม่เพียงแต่ยูเครนประเทศเดียวอีกต่อไป 

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เตือนชาติตะวันตกว่าอาจเจอการตอบโต้ที่รวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ หากยังคงเดินหน้าข่มขู่ทางยุทธศาสตร์ ขณะที่สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 66 

ปูตินกล่าวว่า “หากบุคคลภายนอกมีเจตนาแทรกแซงสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ และข่มขู่รัสเซียในด้านยุทธศาสตร์ที่เราไม่อาจยอมรับได้ คนเหล่านั้นพึงรู้ไว้ว่า เราจะตอบโต้กลับโดยเร็วดุจสายฟ้าแลบ”

"เรามีเครื่องมือทุกอย่างสำหรับเรื่องนี้ เครื่องมือที่เราจะไม่โอ้อวด เราจะใช้มันหากจำเป็น ผมอยากให้ทุกคนรู้เรื่องนี้ เราได้ตัดสินใจทั้งหมดในเรื่องนี้ไปแล้ว"
ปูตินกล่าว

นอกจากนี้ ปูตินยังกล่าวหาชาติตะวันตกว่าต้องการทำให้รัสเซียแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ โดยระบุว่า พวกเขากำลังกระพือความขัดแย้งในยูเครน

ขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหมของอังกฤษยังอ้างว่า รัสเซียยังคงมีกองทัพเรือเกือบ 20 ลำในเขตปฏิบัติการในทะเลดำ แม้จะไม่สามารถแทนที่ศักยภาพของเรือลาดตระเวนมอสควา (Moskva) ที่จมลงได้ก็ตาม

นอกจากนี้ บริษัทไมโครซอฟท์ยังระบุว่า ตรวจพบการโจมตีทางไซเบอร์จากรัฐบาลรัสเซียต่อยูเครนถึง 37 ครั้ง

เวิลด์แบงก์เตือนสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำราคาอาหาร-พลังงานพุ่งแรงปีนี้

ด้านธนาคารโลกออกรายงานเตือนว่า สงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งสร้างความเสียหายต่อระบบการค้า การผลิต และการอุปโภคบริโภคทั่วโลก

ธนาคารโลกเปิดเผยรายงาน “แนวโน้มตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Markets Outlook)”  โดยระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกอาหารซึ่งผลิตโดยรัสเซียและยูเครนนั้น ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาปุ๋ยซึ่งจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิต พุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551

รายงานของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ราคาพลังงานจะพุ่งขึ้นกว่า 50% ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวลงในปี 2566 และ 2567 โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2565 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 และเพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2564 และคาดว่าราคาจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ 92 ดอลลาร์ในปี 2566 แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ราคายังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงาน เช่น สินค้าโภคภัณฑ์และโลหะ คาดว่าจะพุ่งขึ้นเกือบ 20% ในปี 2565 และจะลดลงในปีต่อ ๆ ไปหลังจากนั้น

ธนาคารโลกยังคาดการณ์ด้วยว่า ราคาข้าวสาลีจะทะยานขึ้นกว่า 40% และแตะที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 และคาดว่าราคาโลหะจะปรับตัวขึ้น 16% ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวลงในปี 2566 แต่ก็จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก

นอกจากนี้ ธนาคารโลกระบุว่า ในกรณีที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ หรือมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม ราคาสินค้าต่าง ๆ ก็จะพุ่งขึ้นอีก และจะมีความผันผวนมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ในปัจจุบัน

รูเบิลแข็งค่า หลังรัสเซียระงับส่งก๊าซไปบัลแกเรีย-โปแลนด์

สกุลเงินรูเบิลของรัสเซียแข็งค่าขึ้น 1 แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีที่ 75.9075 รูเบิลต่อยูโร ขณะเดียวกัน สกุลเงินรูเบิลแข็งค่าขึ้น 1% เทียบดอลลาร์ด้วย แตะ 72.82 รูเบิลต่อดอลลาร์

รายงานข่าวระบุว่า สกุลเงินรูเบิลแข็งค่าขึ้น หลังบริษัทก๊าซพรอม ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซียเปิดเผยว่า บริษัทระงับการจัดส่งก๊าซธรรมชาติไปยังบัลแกเรียและโปแลนด์

เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่ยอมชำระเงินค่าก๊าซธรรมชาติด้วยสกุลเงินรูเบิล ซึ่งถือเป็นการตอบโต้ครั้งรุนแรงที่สุดต่อมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกที่เป็นผลพวงของความขัดแย้งในยูเครน

ด้านเวเลส แคปปิตอล เปิดเผยว่า การระงับการส่งออกก๊าซให้แก่ประเทศในยุโรปจะยิ่งสร้างความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และบั่นทอนความสัมพันธ์กับยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่น

EU ตั้งเป้าเลิกพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียในปี 2570

นายเปาโล เจนติโลนี กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่า EU ตั้งเป้าลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียลงในปริมาณ 2 ใน 3 ภายในสิ้นปีนี้ และจะลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2570

นายเจนติโลนีให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า EU อาจปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงจากที่เคยตั้งเป้าไว้ที่ 4% โดยคาดว่าจะเผยแพร่รายงานคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจประจำฤดูใบไม้ผลิ (Spring Forecast) ในวันที่ 16 พ.ค.นี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของยูโรโซนในปี 2565 ลงสู่ระดับ 2.8% จากระดับ 3.9% อันเป็นผลจากสงครามยูเครน-รัสเซีย

อย่างไรก็ดี นายเจนติโลนียังกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาหรือไม่ โดยระบุถึง “ปัจจัยบวกบางอย่างที่สืบเนื่องมาจากครึ่งหลังของปี 2564” เช่น อัตราการว่างงานที่ลดต่ำอย่างมีนัยสำคัญและอัตราการออมในระดับสูง

ยุโรปนำเข้าน้ำมันจาก UAE ทดแทนแหล่งรัสเซีย

บริษัทโททาลเอนเนอร์ยีส์ของฝรั่งเศสได้ทำการเช่าเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อขนส่งน้ำมันดิบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) ไปยังยุโรปในช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นการขนส่งน้ำมันดิบจาก UAE สู่ยุโรปครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังอิตาลีนำเข้าน้ำมันดิบจาก UAE ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพ.ค. 2563

ทั้งนี้ การหันมาพึ่งพาน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางของยุโรปนั้นเกิดขึ้นหลังบรรดาผู้ซื้อในยุโรปหลีกเลี่ยงการจัดซื้อน้ำมันจากรัสเซีย หลังรัสเซียเปิดปฏิบัติการรุกรานยูเครนในช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

สำหรับเรือบรรทุกน้ำมันสุเอสแม็กซ์ มอสโก สปิริต (SUezmax Moscow Spirit) ที่โททาลเอนเนอร์ยีส์ทำการเช่าเอาไว้นั้นมีกำหนดจัดส่งน้ำมันดิบเกรดเมอร์เบินจากท่าเรือเยเบล ดานนาใน UAE ไปยังสหราชอาณาจักรในวันที่ 1 – 3 พ.ค.นี้

ยุโรปคาดการณ์ว่าจะนำเข้าน้ำมันดิบจาก UAE ตลอดช่วงหลายเดือนข้างหน้าเพื่อชดเชยการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป

(EU) ได้เตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่ต่อการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย

ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปเพิ่มขึ้นราว 20% หลังรัสเซียปิดท่อนำส่งก๊าซ

ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปเพิ่มขึ้นราว 20% ในตอนเช้าวันพุธ (27 เม.ย.) หลังก๊าซพรอมของรัสเซียระงับจ่ายอุปทานที่ป้อนสู่โปแลนด์และบัลแกเรีย โดยระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศไม่ยอมชำระค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิลหนึ่งวันก่อนหน้านั้น ความเคลื่อนไหวที่ทำให้สกุลเงินรัสเซียแข็งค่าขึ้น และจากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีผู้ซื้อยุโรปแล้ว 4 รายที่ยอมทำตามข้อบังคับดังกล่าว 

ราคาขายส่งก๊าซยุโรป สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดีดตัวขึ้น 20% เป็น 117 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ในช่วงต้นของการซื้อขายเมื่อวันพุธ (27 เม.ย) สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเกือบ 7 เท่า

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของราคาก๊าซธรรมชาติมีขึ้นหลังจากก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ระบุในถ้อยแถลงว่า "ก๊าซพรอมระงับการส่งก๊าซป้อนแก่ Bulgargaz (บัลแกเรีย) และ PGNiG (โปแลนด์) โดยสิ้นเชิง สืบเนื่องไม่จ่ายเป็นรูเบิล"

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวหารัสเซียพยายามใช้ก๊าซเป็นเครื่องมือแบล็กเมล์ หลังก๊าซพรอมตัดสินใจระงับจ่ายอุปทานป้อนบัลแกเรียและโปแลนด์ โดยระบุว่า มันเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรมและเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และชี้ว่ารัสเซียกำลังกลายเป็นผู้จัดหาก๊าซที่ขาดความน่าเชื่อถือ

เธอบอกต่อว่า โปแลนด์และบัลแกเรียได้รับอุปทานก๊าซธรรมชาติจากประเทศอื่นๆ ของอียู และนั่นคือสิ่งที่ทางกลุ่มได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน

ติดต่อโฆษณา!