WHO ตั้งชื่อใหม่ให้โควิด-19 ที่กลายพันธุ์ เลี่ยงการตีตรา “ประเทศ” ที่พบครั้งแรก
Highlight
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศระบบการตั้งชื่อใหม่สำหรับโควิด-19 กลายพันธุ์ ด้วยการเรียกตามตัวอักษรกรีก ทำให้ง่ายต่อการพูด และจดจำ เช่น Alpha, Beta, Gamma เป็นต้น ทดแทนการเรียกชื่อสายพันธุ์ด้วยสถานที่หรือประเทศที่พบ เพื่อเลี่ยงการถูกตราหน้า และเลือกปฏิบัติ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 พ.ค. 64) องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผย ชื่อเรียกไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ หลังจากมีคำวิพากษ์วิจารณ์ ว่าชื่อที่นักวิทยาศาสตร์เรียก เช่น สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น B.1.351 , 501Y.V2 และ 20H/501Y.V2 นั้นซับซ้อนเกินไป
WHO ประกาศระบบตั้งชื่อสายพันธุ์ของโควิด-19 ป้องกันการตีตราจุดที่ตรวจพบ
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ยังคงมีอยู่ เพื่อถ่ายทอดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ และยังคงใช้ในการวิจัยต่อไป ส่วนระบบการตั้งชื่อ มีจุดมุ่งหมายลดความซับซ้อนในการเรียก และการออกเสียง รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ และการตีตราชื่อประเทศที่ค้นพบสายพันธุ์นั้น ๆ
สายพันธุ์เชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ทั้ง 4 สายพันธุ์ ที่ WHO ระบุว่า เป็นสายพันธุ์ชนิดกลายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล (Variant of Concern : VOC) ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปตามชื่อประเทศแรกที่พบ ได้รับการกำหนดชื่อใหม่แล้ว ด้วยการเรียงตามลำดับตัวอักษรกรีก ตามลำดับการตรวจพบ
ชื่อใหม่ของไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์
1.สายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล (Variants of Concern : VOC)
1.1 สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ “B.1.1.7” เดิมเรียก “สายพันธุ์อังกฤษ” เปลี่ยนมาเรียกว่า
“สายพันธุ์ Alpha (แอลฟา)”
1.2 สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ “B.1.351” เดิมเรียก “สายพันธุ์แอฟริกาใต้” เปลี่ยนมาเรียกว่า
“สายพันธุ์ Beta (บีตา)”
1.3 สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ “P.1” เดิมเรียก “สายพันธุ์บราซิล” เปลี่ยนมาเรียกว่า
“สายพันธุ์ Gamma (แกมมา)”
1.4 สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ “B.1.617.2” เดิมเรียก “สายพันธุ์อินเดีย” เปลี่ยนมาเรียกว่า
“สายพันธุ์ Delta (เดลตา)”
เช่นเดียวกับ สายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variants of Interest : VOI) ก็ต้องได้รับการตั้งชื่อใหม่ตามลำดับตัวอักษรกรีก
2. สายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variants of Interest : VOI)
2.1 สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ “B.1.427/B.1.429” เดิมเรียก “สายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย” เปลี่ยนมาเรียกว่า “สายพันธุ์ Epsilon (เอปไซลอน)”
2.2 สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ “P.2” เดิมเรียก “สายพันธุ์บราซิล” เปลี่ยนมาเรียกว่า
“สายพันธุ์ Zeta (ซีตา)”
2.3 สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ “B.1.525” แต่เดิม ค้นพบในหลายประเทศ นับจากนี้กำหนดให้เรียกว่า “สายพันธุ์ Eta (อีตา)”
2.4 สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ “P.3” เดิมเรียก “สายพันธุ์ฟิลิปปินส์” เปลี่ยนมาเรียกว่า
“สายพันธุ์ Theta (ทีตา)”
2.5 สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ “B.1.526” เดิมเรียก “สายพันธุ์นิวยอร์ก” เปลี่ยนมาเรียกว่า
“สายพันธุ์ Iota (ไอโอตา)”
2.6 สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ “B.1.617.1” เดิมเรียก “สายพันธุ์อินเดีย” เปลี่ยนมาเรียกว่า
“สายพันธุ์ Kappa (แคปปา)”
ทำไมใช้อักษรกรีก (Greek Alphabet) มาใช้ในระบบการตั้งชื่อ
การเลือกอักษรกรีกเกิดขึ้น หลังจากการไตร่ตรองถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ มาหลายเดือน เช่น เทพเจ้ากรีก และ การคิดค้น ซึ่งระบบการตั้งชื่อนี้ Mark Pallen ผู้เชี่ยวชาญด้านแบคทีเรียวิทยา มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่ออักษรกรีกเหล่านี้ ก็ไปตรงกับชื่อสินค้า หรือ บริษัทต่าง ๆ
ส่วนแนวคิดอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ก็เสนอการอ้างถึง สายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล (VOC) ด้วยการเรียงลำดับการพบไปเลย เช่น VOC1, VOC2 ฯลฯ แต่ก็ยกเลิกความคิดนี้ไป เนื่องจากคล้ายกับคำสบถในภาษาอังกฤษ
"ไม่ควรมีประเทศใด ถูกตีตรา”
ในอดีต ไวรัสมักเกี่ยวข้องกับสถานที่ ที่เชื่อว่าอุบัติขึ้นครั้งแรก เช่น อีโบลา ก็ตั้งชื่อตามแม่น้ำในคองโก แต่สิ่งนี้อาจสร้างความเสียหายแก่สถานที่ และมักจะไม่ถูกต้อง เช่น การระบาดที่เรียกว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ในปี พ.ศ. 2461 แต่กลับไม่ทราบต้นกำเนิดที่แท้จริง
Maria Van Kerkhove นักระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า "ไม่ควรมีประเทศใด ถูกตีตราและถูกขานชื่อจากการตรวจพบสายพันธุ์นั้น ๆ"
การถูกเรียกขาน “สายพันธุ์ไทย” ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรเรียกเช่นนั้น คือ “บทเรียน”
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ หรือ Public Health England (PHE) เผยแพร่ข้อมูลพบสายพันธุ์เพิ่มเติม มีการตั้งชื่อว่า VUI-21MAY-02 (C.36.3) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ว่าเคยพบ “ครั้งแรก” ใน “ประเทศไทย” ในผู้เดินทางจากประเทศอียิปต์ ซึ่งขณะนั้น สื่อต่างชาติก็พากันเรียกโควิด-19 สายพันธุ์ C.36.3 ว่าเป็น “สายพันธุ์ไทย” จนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการของไทย ต้องพากันออกมาสร้างความเข้าใจว่า ชาย อายุ 33 ปี สัญชาติอียิปต์ ที่เดินทางถึงไทย และเข้ากักตัวที่ ASQ ในโรงแรม ก่อนจะพบว่าติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ C.36.3 และบินกลับประเทศอียิปต์ในเวลาต่อมานั้น ไม่เคยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้รายอื่นเพิ่มจากผู้ป่วยรายนี้ในประเทศไทยแต่อย่างใด แม้แต่รายงานของสาธารณสุขอังกฤษ ก็ชื่อในตารางสายพันธุ์ไวรัส ว่า Thailand ex Egypt ตามหลักการจึงไม่ควรเรียก “สายพันธุ์ไทย”
กรณีนี้ จึงเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงเหตุผลขององค์การอนามัยโลกในการตั้งระบบชื่อเรียกไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อลดความสับสน ไม่ให้สถานที่ หรือ ประเทศ ใดๆ ต้องถูกตราหน้า
แหล่งที่มา :
https://www.who.int/en/activities/tracking-SARS-CoV-2-variants/