10 อันดับประเทศที่มีการพัฒนายั่งยืนที่สุดในโลก “ไทย” อันดับ 1 อาเซียน 3 ปีซ้อน
HighLight
มหาวิทยาลัย Cambridge เผยแพร่รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2564 (Sustainable Development Report 2021) พร้อมกับการประกาศอันดับประเทศที่มีการพัฒนายั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) จำนวน 165 ประเทศ จาก 193 ประเทศสมาชิก ปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 43 ของโลก เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และเป็นอันดับที่ 3 ของทวีปเอเชีย
3 ประเทศกลุ่มนอร์ดิกมีการพัฒนายั่งยืนที่สุดในโลก !
มหาวิทยาลัย Cambridge แห่งสหราชอาณาจักร เผยแพร่รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2564 (Sustainable Development Report 2021) เนื่องจากการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่างๆ จำนวน 165 ประเทศ จากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (UN SDGs) จำนวน 193 ประเทศทั่วโลก สำหรับปีนี้ ประเทศที่มีค่าดัชนีชี้วัด SDGs สูงที่สุด 3 อันดับแรกของโลก ล้วนเป็นประเทศร่ำรวยที่อยู่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (ยุโรปเหนือ) ได้แก่ อันดับ 1 ฟินแลนด์ อันดับ 2 สวีเดน และอันดับ 3 เดนมาร์ก
การจัดอันดับประเทศที่มีการพัฒนายั่งยืน ใช้อะไรชี้วัด ?
การจัดอันดับประเทศที่มีการพัฒนายั่งยืนจะใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) รวม 17 ข้อ เป็นตัวชี้วัด คิดคะแนนเต็ม 100 คะแนน ถ้าได้คะแนนเต็ม 100% นั่นหมายความว่า ประเทศนั้นบรรลุเป้าหมาย SDG ทั้งหมดแล้ว
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ประกอบด้วย
SDG1: ขจัดความยากจน (No Poverty)
SDG2: ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)
SDG3: สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being)
SDG4: การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education)
SDG5: ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
SDG6: น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation)
SDG7: พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy)
SDG8: งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth)
SDG9: โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม (Industry, Innovation and Infrastructure)
SDG10: ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities)
SDG11: เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)
SDG12: การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)
SDG13: การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)
SDG14: ทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water)
SDG15: ระบบนิเวศบนบก (Life on Land)
SDG16: ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง (Peace, Justice and Strong Institutions)
SDG17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for The Goals)
“ไทย” อันดับ 1 อาเซียน 3 ปีซ้อน
ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 43 ของโลก เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และเป็นอันดับที่ 3 ของทวีปเอเชีย ซึ่งการรายงานการจัดอันดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ ประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยรวม 74.19 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ที่ 65.7 คะแนน และในรายงานได้ระบุว่า ไทยบรรลุเป้าหมายในหัวข้อ SDG1: ขจัดความยากจน (No Poverty) ทั้งยังมีเป้าหมาย SDGs ที่มีสัดส่วนของตัวชี้วัดที่บรรลุเป้าหมายแล้ว (Achieved) และมีแนวโน้มจะบรรลุตามเป้าประสงค์ระยะยาว ประกอบด้วย SDG4: การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education), SDG6: น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation) และ SDG9: โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม (Industry, Innovation and Infrastructure)
ส่วนเป้าหมายที่ยังคงเป็นความท้าทายสูง (สถานะสีแดง) ได้แก่ SDG2: ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger),
SDG3: สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being), SDG10: ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities), SDG14: ทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water) และ SDG15: ระบบนิเวศบนบก (Life on Land)
โควิด-19 เป็นความล้มเหลวของการพัฒนาที่ยั่งยืน “ทุกประเทศ”
รายงานนี้ ระบุว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2015 ที่ผู้นำประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศได้รับรองการนำ SDGs หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้ชี้วัด ปรากฏว่า รายงานประจำปีล่าสุด แสดงความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่ “ถดถอย” ในการขับเคลื่อน SDGs เนื่องด้วยอัตราความยากจนและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น จากการระบาดใหญ่ของโควิด-19
การระบาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การลำดับความสำคัญสูงสุดในการทำงานของทุกรัฐบาล นั่นก็คือ การกำจัดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
แหล่งที่มา :
https://dashboards.sdgindex.org/rankings
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/43209
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว