เปิดไทม์ไลน์ กว่าจะมาเป็นโอลิมปิก โตเกียว 2020
HighLight
ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามอย่างเต็มที่ที่จะจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกให้เกิดขึ้น ท่ามกลางกระแสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยของประชาชนชาวญี่ปุ่น ซึ่งเหตุผลหลักของการจัดงานครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นลงทุนไปอย่างมาก คิดเป็นงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท และคงขาดทุนมหาศาล หากต้องล้มเลิกไป นอกจากนั้น มหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ #ทันข่าวทันโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ รวมไทม์ไลน์ที่น่าสนใจ กว่าจะมาเป็นโอลิมปิก 2020 มาฝากไว้ คลิกอ่านได้เลย
โอลิมปิกครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 เท่านั้นที่จัดขึ้นที่โตเกียว ซึ่งไม่น่าเชื่อสำหรับเมืองใหญ่และประเทศใหญ่ขนาดนี้ โดยครั้งก่อนหน้าของกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวต้องย้อนกลับไปถึงปี 1964 เลย ซึ่งไทม์ไลน์ที่น่าสนใจของโอลิมปิกรอบนี้ มีดังนี้
23 พฤษภาคม 2012
คณะกรรมการโอลิมปิกได้คัดเลือก 3 เมืองสุดท้ายที่จะแข่งขันกันเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิก 2020 ได้แก่ อิสตันบูล มาดริด และโตเกียว
7 กันยายน 2013
คณะกรรมการโอลิมปิกได้ประกาศให้โตเกียวชนะการคัดเลือกและได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันในปี 2020
7 พฤษภาคม 2014
สถานีโทรทัศน์ NBC ประกาศคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก ไปจนถึงปี 2032 หรืออีก 4 ครั้ง นับจากนี้ ด้วยการจ่ายเงินไปกว่า 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3 สิงหาคม 2016
คณะกรรมการโอลิมปิก ประกาศชนิดกีฬาใหม่ที่ถูกบรรจุให้เข้าแข่งขัน 5 ประเภทได้แก่
1.สเกตบอร์ด
2.คาราเต้
3. กระดานโต้คลื่น
4. ปีนเขา
5. เบสบอล (ชาย) และซอฟต์บอล (หญิง)
เมษายน 2017 - มีนาคม 2019
คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิก โตเกียว 2020 ออกแคมเปญ Everyone’s Medal ให้ทุกคนบริจาคโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นเหรียญรางวัล ปรากฏว่ามีคนนำมือถือและอุปกรณ์เก่ามาบริจาคกว่า 6 ล้านเครื่อง รวมน้ำหนักกว่า 79,000 ตัน
กุมภาพันธ์ 2018
ญี่ปุ่นประกาศตัวมาสคอต ประจำการแข่งขัน เป็น Super Heroes 2 ตัวที่มีบุคลิกตรงกันข้าม แต่เป็นมิตรแท้ของกันและกัน
21 กรกฎาคม 2018
ญี่ปุ่นประกาศชื่อตัวมาสคอตการแข่งขัน ของทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิก โดยตัวแรกชื่อ Miraitowa แปลว่า “อนาคตที่ไม่จบสิ้น” สำหรับเป็นมาสคอตโอลิมปิก และ Someity ที่สื่อความหมายถึงดอกซากุระผลิบาน รวมทั้งพ้องเสียงกับภาษาอังกฤษ So Mighty สำหรับกีฬาพาราลิมปิก
7 สิงหาคม 2018
ญี่ปุ่นประกาศว่าจะใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเข้ามาใช้ เพื่อรักษาความปลอดภัยในการแข่งขัน
24 กรกฎาคม 2019
ญี่ปุ่นเปิดตัวเหรียญรางวัลที่ทำจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการบริจาค
4 ธันวาคม 2019
กลุ่มกรีนพีซ ออกมาแจ้งว่าตรวจพบกัมมันตภาพรังสี ที่สนามแข่งกีฬาในเขตฟุกุชิมะ ที่เคยเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหล
15 ธันวาคม 2019
ญี่ปุ่นเปิดตัวสนามกีฬาที่ใช้ในพิธีเปิดและพิธีปิด ขนาด 68,000 ที่นั่ง ที่ใช้งบในการสร้างกว่า 157,000 ล้านเยน หรือกว่า 5 หมื่นล้านบาท
12 มีนาคม 2020
คบเพลิงโอลิมปิก ได้รับการจุดขึ้นที่ประเทศกรีซ ก่อนเดินทางมาถึงญี่ปุ่นในวันที่ 26 มีนาคม ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น
24 มีนาคม 2020
ญี่ปุ่นประกาศเลื่อนการจัดแข่งขันโอลิมปิกจากสถานการณ์โควิด-19 ออกไปอย่างน้อย 1 ปี
30 มีนาคม 2020
ญี่ปุ่นประกาศวันแข่งขันใหม่ คือวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2021
22 ธันวาคม 2020
คณะผู้จัดการแข่งขันประเมินว่าการเลื่อนการแข่งขันทำให้ต้นทุนการจัดงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นต้นทุนการจัดกว่า 5 แสนล้านบาท
21 พฤษภาคม 2021
สื่อในประเทศเริ่มรายงานความเป็นไปได้ในการยกเลิกการแข่งขันทั้งหมด
8 กรกฎาคม 2021
ญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าจัดการแข่งขันพร้อมประกาศว่าการแข่งขันทั้งหมดจะจัดขึ้นแบบ “ไม่มีผู้เข้าชม”
ขณะนี้ บางชนิดกีฬาเริ่มแข่งขันไปบ้างแล้ว และจะไปสิ้นสุดวันที่ 8 สิงหาคม 2564 แต่พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว 2020 อย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม นี้ ตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกา ตามเวลาประเทศไทย
มหกรรมกีฬาครั้งนี้ มีนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน 41 คน ใน 16 ชนิดกีฬา ได้แก่ กีฬากรีฑา, แบดมินตัน, มวยสากล, เรือพาย (เรือแคนู/คายัค กับ เรือกรรเชียง), จักรยาน, ขี่ม้า, กอล์ฟ, ยูโด, เรือใบ, วินด์เซิร์ฟ, ยิงปืน, ยิงเป้าบิน, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส และ เทควันโด ตรวจสอบโปรแกรมการถ่ายทอดสดการแข่งขันเพื่อส่งกำลังใจเชียร์นักกีฬาไทยผ่านจอได้ทาง https://stadiumth.com/olympic
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว