09 สิงหาคม 2564
2,400

ถอดบทเรียนจากสหรัฐ เรียนออนไลน์ ไม่ได้ผล

ถอดบทเรียนจากสหรัฐ เรียนออนไลน์ ไม่ได้ผล
HighLight

โควิด ทำให้การใช้ชีวิตในหลายด้านเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมทั้งเรื่องการเรียนการสอน ที่นักเรียน นักศึกษาชาวไทยจำนวนมาก ต่างต้องปรับเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ซึ่งอุปสรรคล้วนมีมากมายตั้งแต่ความพร้อมของอุปกรณ์ที่หลายบ้านไม่สามารถรองรับได้ ตลอดจนบรรยากาศการเรียน ที่ยากจะสื่อสารความรู้ไปยังผู้เรียน แม้กระทั่งในอเมริกา ที่ระบบการเรียนการสอนทและอุปกรณ์เทคโนโลยี พร้อมกว่าไทยมาก ผู้เรียนก็ยังรู้สึกว่า เรียนออนไลน์นั้น ไม่ได้ผล


สำนักข่าว Voice of America ทำการสัมภาษณ์นักศึกษาทั้งที่เป็นชาวอเมริกันและชาวต่างชาติที่เข้าศึกษาในสถาบันระดับอุดมศึกษาต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ที่ต้องปิดชั้นเรียนลงชั่วคราวตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว เพราะการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หลายคนระบุว่า วิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อทั้งการใช้ชีวิตและการศึกษาของตนอย่างมาก ขณะที่ การเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้น ไม่ได้เข้ามาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปได้อย่างที่มีการกล่าวอ้าง แม้ว่าจะมีการพยายามโหมโรงนำเสนอโดยหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องมากมายก็ตาม


ผู้ที่ให้สัมภาษณ์กับสหภาพนักศึกษา วีโอเอ
กล่าวว่า พวกตนต้องการจะกลับเข้าไปเรียนในชั้นเรียนที่สถาบันของตนอย่างมาก เพราะการที่ได้พักอยู่ในหอพัก มีการปฏิสัมพันธ์เข้าสังคมกับผู้อื่น และทำความรู้จักสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่และอาจารย์ทั้งหลาย คือส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการหาประสบการณ์ในรั้วสถาบัน

โฟรซาน ทาฮิรี นักศึกษาจากอัฟกานิสถาน ที่ได้รับการตอบรับเข้าเรียนที่ แวกเนอร์ คอลเลจ (Wagner College) ในนิวยอร์ก และมีกำหนดเริ่มเรียนตั้งแต่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงของปีที่แล้ว สำเร็จการเรียนในปีแรกโดยไม่เคยได้เหยียบเข้ารั้วมหาวิทยาลัยเลย เพราะทำการเรียนแบบออนไลน์มาตลอดปีที่ผ่านมา จากที่บ้านในกรุงคาบูล

ทาฮิรี บอกว่า ในอัฟกานิสถานนั้น ปัญหาไฟฟ้าดับคือเรื่องใหญ่ที่สุดที่ทำให้ตนเครียดมาก จนต้องหาแผนสำรองเผื่อกรณีไม่มีไฟฟ้าใช้ เช่น ซื้อเครื่องปั่นไฟจากพลังแสงอาทิตย์มาติดตั้งที่บ้าน นอกจากนั้น ระบบอินเตอร์เน็ตไวไฟที่มีคุณภาพต่ำเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เธอต้องเผชิญมาตลอด เพราะทำให้ต้องหลุดออกจากชั้นเรียนทีละ 5 นาที หรือไม่ก็ตลอดชั่วโมง เพราะสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ติดๆ ดับๆ

ทาฮิรี กล่าวว่า เธอรู้สึกเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในโลก 2 โลก แต่ก็ไม่ได้อยู่ในโลกใดอย่างเต็มตัว เพราะความแตกต่างของเวลาของทั้งสองประเทศ ทำให้กลางคืนและกลางวันของตนสลับกันไปหมด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคมไปโดยปริยาย

และในมุมมองของเธอนั้น การเรียนการศึกษาไม่ใช่เรื่องของความรู้วิชาการเพียงอย่างเดียว แต่การได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ผ่านมา เธอไม่รู้จักเพื่อนร่วมชั้นแม้แต่คนเดียว เพราะนักศึกษาไม่จำเป็นต้องเปิดกล้องระหว่างเข้าเรียนแบบออนไลน์

นอกจากนั้น เธอยังไม่สามารถร่วมรับประทานอาหารเย็นกับครอบครัวได้ เพราะต้องเข้าเรียน และแต่ไม่สามาถพบปะพูดคุยกับคนในครอบครัวในตอนเช้าได้ เพราะเธอเองกำลังจะเข้านอน ระหว่างที่ทุกคนกำลังจะตื่น

ในเวลานี้ เธอหวังว่า จะสามารถเดินทางมายังสหรัฐฯ เพื่อเข้าเรียนแบบปกติหลังเปิดภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้

จากการสำรวจโดย Inside Higher Ed’s Student Voice Survey ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กร College Pulse และบริษัทธุรกิจการศึกษา Kaplan Inc ผู้สำรวจพบว่า นักศึกษาเกือบครึ่งหนึ่งจัดอันดับคุณค่าการศึกษาของตนในระดับ “พอใช้” หรือ “แย่”

แจ็ค มอร์นิงสตาร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยแห่งนอร์ทแคโรไลนา ณ แชปเปิล ฮิลล์ ที่ต้องย้ายออกจากหอพักของมหาวิทยาลัยเมื่อเดือนมีนาคมของปีที่แล้วเช่นกัน กล่าวว่า ช่วงหลังเกิดวิกฤตการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้น เป็นเวลาที่มีความเครียดมากสำหรับนักศึกษา เพราะแต่ละคนไม่ทราบเลยว่าเกิดอะไรขึ้นและอย่างไหนเรียกว่าปลอดภัย และแม้การได้เข้าชั้นเรียนผ่านระบบซูม (Zoom) หรือแอปพลิเคชั่นอื่นๆ จะช่วยให้ทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวมาได้ ชีวิตในช่วงกว่าปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นเวลาที่ยากลำบากอยู่ดี

สำหรับ มอร์นิงสตาร์ นั้น เขาสามารถกลับเข้าเรียนในชั้นเรียนอีกครั้งในเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว แต่หลังเรียนแบบปกติไปได้ไม่กี่สัปดาห์ ทางมหาวิทยาลัยประกาศให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งหมดต้องกลับไปเรียนแบบออนไลน์อีกครั้ง เพราะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งครั้งนั้น เรื่องนี้กลายมาเป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศเพราะ นักศึกษาจำนวน 30,000 คนของ มหาวิทยาลัยแห่งนอร์ทแคโรไลนา ณ แชปเปิล ฮิลล์ ซึ่งรวมถึงนักศึกษาจำนวน 1,254 คนจาก 79 ประเทศ ถูกบังคับให้กลับมาเรียนทางไกลทั้งหมด

จากปกติที่เป็นคนตั้งใจเรียน มอร์นิงสตาร์ กล่าวว่า ตนไม่ได้ใส่ใจการเรียนมากเท่าใดนักระหว่างทำการเรียนออนไลน์ เพราะ “บรรยากาศการเรียนไม่เอื้อให้มีความอยากเรียนรู้” และยอมรับ บ่อยครั้ง ที่ตนนั่งเช็คเฟสบุ๊ค แทนที่จะสนใจเนื้อหาการเรียนการสอน

ขณะเดียวกัน นาวาล คฮราม นักศึกษาจากปากีสถาน กล่าวว่า เธอประสบปัญหาคล้ายๆ กันเพราะต้องเข้าเรียนทางไกลจากที่บ้าน ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีที่แล้วมา กว่าจะได้เดินทางมาเข้าเรียนที่ ทรินิตี้ คอลเลจ ในรัฐคอนเนตทิคัตเมื่อฤดูใบไม้ผลิของปีนี้

เธอกล่าวว่า ตลอดเทอมแรกของการเรียนนั้น เธอไม่ได้มีโอกาสเข้าสังคมกับใครเลย เพราะต้องเรียนแบบออนไลน์ ทำให้ไม่ได้มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมชมรมหรือองค์กรใดๆ ที่นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมักทำกัน

และแม้หลังจาก คฮราม เดินทางมาถึงสหรัฐฯ และย้ายเข้ามาอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยแล้ว เธอยังคงต้องทำการเรียนแบบออนไลน์ต่อไป เพราะไม่มีการเปิดชั้นเรียนแบบปกติ

คฮราม กล่าวว่า เธอรู้สึกต้องการจะคุยกับเพื่อนร่วมชั้น และปรึกษาหารือหัวข้อต่างๆ ที่เรียนกัน เพราะวิชาเอกของเธอคือ รัฐศาสตร์การเมือง ซึ่งหมายถึงการที่ต้องพบปะพูดคุยกับผู้คนหลากหลาย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเมืองตลอดเวลา

ส่วน นาตาชา แนช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จาก ดิกคินสัน คอลเลจ ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพจากโรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) พบว่า การเรียนแบบออนไลน์นั้นมีความยากสำหรับเธออย่างมาก เพราะต้องอยู่ในสภาพที่ตัดขาดจากโลกภายนอกและใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในห้องพัก ขณะที่ การเข้าเรียนในชั้นเรียนแบบปกติจะดีสำหรับเธอมากกว่า เพราะจะมีปัจจัยที่ทำให้เธอมีส่วนร่วมกับการเรียนจากการได้ค้นพบเนื้อหาใหม่ๆ และได้ฟังการถกประเด็นในชั้นเรียนแบบตัวเป็นๆ

แนช บอกว่า จุดที่ยากที่สุดสำหรับเธอก็คือ การที่รู้สึกโดดเดี่ยวและขาดระบบสนับสนุน (Support System) ซึ่งหมายถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น เสียงผู้คนและสิ่งต่างๆ เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ โดยเธอย้ำว่า เธอต้องอยู่กับเพื่อน เพราะการได้ร่วมกิจกรรมทางสังคมนั้นจะช่วยให้เธอมีกำลังในการดำเนินชีวิต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การรู้สึกเหมือนไม่มีแรงและไม่มีอารมณ์ทำอะไรเลย แม้แต่การทำการบ้าน

แต่แม้จะมีรายงานเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านลบทั้งหลายออกมา ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาของสหรัฐฯ นั้นยังตั้งความหวังไว้อย่างมากเกี่ยวกับอนาคตของการเรียนการสอบแบบออนไลน์
บริษัท Business Wire เปิดเผยว่า ตลาดการเรียนออนไลน์ในสหรัฐฯ น่าจะขยายตัวจนมีมูลค่าถึงราว 21,640 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2020 และ ปี ค.ศ. 2024 โดยปัจจัยส่งเสริมส่วนหนึ่งก็คือ การระบาดของโควิด-19

แต่ นิตยสาร Forbes คาดการณ์ว่า การศึกษาแบบออนไลน์ในระดับอุดมศึกษานั้นจะไม่สามารถเข้ามาแทนที่การเรียนการสอนแบบดั้งเดิมได้ และจะยังคงเป็นเหมือน “แผนสำรอง มากกว่า ตัวเลือกทดแทนประจำวัน”

ที่มา : Voice of America

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

ติดต่อโฆษณา!