23 สิงหาคม 2564
1,279

อิสมาอิล ซาบรี ยาคอป นายกคนใหม่มาเลเซีย กับภารกิจในการกอบกู้วิกฤตโควิดและการเมือง

อิสมาอิล ซาบรี ยาคอป นายกคนใหม่มาเลเซีย กับภารกิจในการกอบกู้วิกฤตโควิดและการเมือง
Highlight

เมื่อ 22 สิงหาคม 2564 ผ่านมาประเทศ มาเลเซียเพื่อนบ้านของไทยได้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการ เขาคือ นายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอป ซึ่งได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 9 ที่พระราชวังแห่งชาติ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดี อัล สุลต่านอับดุลเลาะห์ อาหมัด ชาห์ กษัตริย์มาเลเซีย ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


มารู้จักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย กับการกลับมากุมอำนาจทางการเมืองของพรรค UMNO

นายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอป อดีตทนายความ ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นนักการเมืองมากประสบการณ์จากพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ หรือพรรคอัมโน (UMNO) และเคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในคณะรัฐมนตรีของนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้ลาออกไปเมื่อ 16 สิงหาคม 2564  ก่อนหน้านี้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้

เส้นทางทางการเมืองของ อิสมาอิล ซาบรี เริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาได้รับเลือกเข้าสู่สภาเมื่อปี 2004 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีภายใต้นายกรัฐมนตรี 2 คน ก่อนมูห์ยิดดิน ยัสซิน และเคยเป็นรัฐมนตรีพัฒนาภูมิภาคและชนบท  รัฐมนตรีเกษตร และรัฐมนตรีการค้าภายใน  การที่อิสมาอิลได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะเป็นการนำพรรคร่วมรัฐบาลชุดเดิมกลับคืนสู่การบริหารประเทศอีกครั้ง
 
ทั้งนี้พรรคอัมโนปกครองมาเลเซียมา นับตั้งแต่ประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1957 ก่อนที่จะพ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 เนื่องจากข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน


ก้าวสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีจากการโหวตของรัฐสภา


หลังจากนายกรัฐมนตรีคนเดิมลาออกไป มาเลเซียไม่ได้เลือกตั้งใหม่ เนื่องจากต้องการเลี่ยงปัญหาการแพร่เชื้อโควิด-19 จึงเป็นการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรแทน เป็นการพิสูจน์และยืนยันว่า มีเสียงข้างมากในรัฐสภาสนับสนุนให้บริหารประเทศ และ นายอิสมาอิล ซาบรี ได้รับเสียงสนับสนุน 114 เสียงจากทั้งหมด 222 เสียง

การแต่งตั้งนายอิสมาอิล ซาบรี ทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับไปอยู่ในมือของพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ หรือ อัมโน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ของมาเลเซียอีกครั้ง หลังพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018 ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตอย่างกว้างขวาง เขาอาจจะใช้โอกาสนี้เพื่อฟื้นฟูบทบาทของพรรคสหมาเลย์ หรือ อัมโน ที่เคยถูกกล่าวหาทุจริต หลังได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ในรัฐสภา

อิสมาอิล ซาบรี กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของมาเลเซีย นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2018 หลังพรรคอัมโนถอนการสนับสนุนมูห์ยิดดินเมื่อเดือนที่แล้ว


อดีตนายกฯแถลงข่าวขอโทษประชาชน


นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน วัย 74 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของมาเลเซีย ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาธิบดีให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 และขึ้นดำรงตำแหน่งในวันถัดมา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ลาออกกะทันหัน

เขาแถลงทางโทรทัศน์ในวันที่ 16 สิงกาคมที่ผ่านมา ขออภัยประชาชนที่ทำความผิดพลาดในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีจึงตัดสินใจลาออกทั้งคณะ สาเหตุที่ทำให้เขาไม่สามารถประคองรัฐบาลผสมเปอริกาตันนาซิออนนัลเอาไว้ได้ เกิดจากการกระทำของบางพรรคการเมืองที่กระหายในอำนาจ

นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ลาออกหลังดำรงตำแหน่งได้เพียง 17 เดือน เนื่องจากต้องเผชิญวิกฤตทางการเมืองและความขัดแย้งในรัฐบาลผสมมาหลายเดือน จนต้องสูญเสียเสียงข้างมากในสภา โดยพรรคอัมโนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในรัฐบาลผสมได้ถอนการสนับสนุนเขา
 
นอกจากนี้ เขายังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าล้มเหลวในการรับมือกับโควิด-19 ทำให้มาเลเซียกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิดมากที่สุ
ในโลกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร
 

วิกฤตโควิดในมาเลเซียนำโด่งเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือความล้มเหลวในการแก้ปัญหาหรือไม่


มาเลเซียเผชิญวิกฤติการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มากที่สุดประเทศหนึ่ง และทำความไม่พอใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการบริหารงานที่ผิดพลาดในการรับมือกับการระบาดของไวรัส

เมื่อ 30 ก.ค. 64 ข้อมูลล่าจาก Our World in Data ระบุว่า มาเลเซียได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงที่สุดในโลก โดยเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 7 วันของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมาเลเซียอยู่ที่ 483.72 คนต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน และเมื่อ 28 ก.ค. ซึ่งสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และสูงที่สุดในเอเชีย

นายโจชัว เคอร์ลันท์ซิค นักวิเคราะห์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสภาวิเทศสัมพันธ์มาเลเซียกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มาเลเซียไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้สถานการณ์แย่ลงนั้น มาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง นับตั้งแต่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเหนือความคาดหมายในเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว ซึ่งเปิดทางให้นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งแต่ละพรรคมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน

ล่าสุดสถานการณ์โควิด-19 ในมาเลเซียยังไม่ดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียเปิดเผยว่า  พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่จำนวน 23,564 ราย ซึ่งเป็นการทำสถิติผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่ที่ 1,513,024 ราย เมื่อ 21 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา


ติดตามนโยบายจากรัฐบาลขุดใหม่และมาตรการควบคุมชุมโควิด-19

 
หลังจากที่เปลี่ยนแปลงรัฐบาลและได้ผู้นำคนใหม่แล้ว งานร้อนๆที่รอแก้ไขอยู่เบื้องหน้าก็คือการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลทุกประเทศในโลกนี้ต่างมีภารกิจเดียวกัน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ที่ดูเหมือนว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังประสบอยู่  และเป็นปัญหาที่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ประเทศและภูมิถาคให้ชะลอตัวลงนั่นเอง

ที่มา : สำนักข่าวอาเซียน TNNWorldNews Reuters

ติดต่อโฆษณา!