30 สิงหาคม 2564
1,954

ดอกเบี้ยโลกเตรียมขยับขึ้น กระทบต้นทุนธุรกิจอย่างไร ? การปรับต้นทุนธุรกิจเมื่อดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะขาขึ้น

ดอกเบี้ยโลกเตรียมขยับขึ้น กระทบต้นทุนธุรกิจอย่างไร ? การปรับต้นทุนธุรกิจเมื่อดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะขาขึ้น
Highlight

ดอกเบี้ย นับเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ เมื่อดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น หมายความว่าต้นทุนในการทำธุรกิจจะสูงขึ้นตามไปด้วย  การปรับขึ้นของดอกเบี้ยของสหรัฐ มักจะชี้นำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับทิศทางตามกันไป เพราะปัจจุบันการเคลื่อนย้ายเงินทุนไร้พรมแดน ดังนั้นภาคธุรกิจต้องเตรียมปรับแผนเพื่อให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจมีความเหมาะสม ทางเลือกการเพิ่มทุน และการระดมทุนในรูปแบบอื่นอาจจะต้องนำมาทดแทนการกู้เงินและการออกหุ้นกู้


การประชุมประจำปีครั้งสำคัญของธนาคารกลางสหรัฐ ที่ชื่อว่า Jackson Hole Anual Symposium ที่เกิดขึ้นเมื่อ 26-28 สิงหาคมที่ผ่านมาเป็นที่จับมองว่าธนาคารกลางสหรัฐจะส่งสัญญาณอะไรที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยและการปรับลด QE หรือไม่ 

ซึ่งโดยสรุป นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวว่า เฟดมีแนวโน้มจะเริ่มต้นถอนนโยบายผ่อนคลายผ่อนคลายการเงินหรือ QE  “ก่อนสิ้นปีนี้” แต่ยังไม่มีท่าทีขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ จากก่อนหน้าที่คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในปลายปีนี้ แต่อาจจะขึ้นในปี 2565 

ขณะที่ภาพรวมการกล่าวถ้อยแถลงโดยส่วนใหญ่ ในการประชุมครั้งนี้ นายโพเวลล์ กล่าวถึง เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวบรรลุเป้าหมาย จึงไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายสนับสนุนการเงินที่นานขึ้น
 
ดังนั้น ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนว่า เฟดมีแนวโน้มจะเริ่มต้นปรับลดการเข้าซื้อพันธบัตรรายเดือนก่อนสิ้นปีนี้ จากความคืบหน้าทางเศรษฐกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเมื่อพิจารณาจากถ้อยแถลงของสมาชิกเฟดรายอื่นๆ สะท้อนว่า เฟดจะประกาศทำ Tapering QE ในการประชุม 21-22 กันยายน นี้

ในระยะสั้นเรื่องนี้อาจจะส่งผลดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้น ทองคำ และพันธบัตร เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาบ้าง เพราะประธานให้ข้อมูลไม่ชัดเจนนัก เกี่ยวกับรายละเอียดของการทำ QE และการขึ้นดอกเบี้ยที่ยังเป็นดรอบกว้างๆ แต่ได้พูดชัดเจนว่าจะปรับดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นแน่ จากปัจจุบันซึ่งดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0.0-0.25% ซึ่งเฟดอาจจะต้องการ ดูการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของเงินเฟ้อเสียก่อน ซี่งคาดว่าเงินเฟ้อน่าจะอ่อนตัวกลับมาสู่กรอบเป้าหมายเฟด 2% แต่ก็ต้องรอข้อมูลมากขึ้นโดยเฉพาะการบรรลุการจ้างงานเต็มที่ ก่อนที่จะเกิดการขึ้นดอกเบี้ยใดๆ โดยปัจจุบัน ตัวเลข Non-Farm Payroll อยู่ที่ประมาณ 146 ล้านคน จากก่อนเกิด COVID-19 ที่ 152 ล้านคน

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะยังไม่ขยับขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะเริ่มขยับขึ้นในช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ไว้ว่า สำหรับผลกระทบต่อไทย การปรับขึ้นดอกเบี้ยของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมนั้นเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ

สำหรับเรื่องทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ปริย เตชะมวลไววิทย์ จาก สํานักงานคณะกรรมการกำกับทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวไว้เช่นกันว่า ในทางทฤษฎีกรณีเฟดปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมีความหมายว่า ต้นทุนทางการเงินในการดำเนินธุรกิจทั้งของผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนจะสูงขึ้น รวมถึงผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวังจากการลงทุนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งที่เราจะเห็นโดยเร็วเมื่อเฟดปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยคือ ผู้ลงทุนอาจโยกเงินลงทุนจากตลาดเกิดใหม่ในหลาย ๆ ประเทศ (อาทิ บราซิล อินเดีย และจีน ซึ่งรวมถึงตลาดทุนไทยด้วย) แล้วนำกลับไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการโยก เม็ดเงินลงทุนนี้ จะส่งผลกระทบทั้งตลาดตราสารหนี้และตราสารทุน

สาหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างชัดเจนคือ ตราสารหนี้ระยะยาวที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้อย่างแน่นอน ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ตามอัตราดอกเบี้ยตลาดที่ปรับขึ้นได้ ทำให้มูลค่าตลาดของตราสารหนี้ระยะยาวลดลง นักลงทุนจะหันไปให้ความสนใจใน ผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ระยะสั้นถึงระยะกลางที่ออกมาใหม่มากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่า ผลตอบแทนจะ สูงขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับนักลงทุนที่เน้นการลงทุนระยะยาว และตัดสินใจที่จะถือตราสารหนี้ หรือหน่วยลงทุนไปจนตลอดอายุ ของตราสารหรือโครงการ โดยพอใจกับผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่ได้รับ และไม่ได้หวังผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาตลาด ก็อาจไม่ต้องกังวลกับการขึ้นลงของราคาตลาดมากนัก และอาจถือว่า เป็นโอกาสในการ ลงทุนเพิ่ม หากราคาตลาดของตราสารต่าง ๆ ลดลงมาในระดับที่น่าสนใจ แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะ สั้น อาจต้องคอยติดตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการไหลออกของเงินลงทุนจากตลาดทุนไทยอย่างใกล้ชิด และหมั่นทบทวนแนวทางการลงทุนของตนเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กาลังเปลี่ยนแปลง

สำหรับผู้ประกอบการ ทิศทางดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจจะทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงตามไปด้วย ซึ่งทางเลือกผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับการการระดมทุนด้วยรูปแบบอื่นนอกเหรือจากการออกหุ้นกู้ หรือกู้ธนาคาร เช่นการเพิ่มทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ หรือการออกเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น

ติดต่อโฆษณา!