10 กันยายน 2564
1,410

กระทรวงการต่างประเทศกับการจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ อีกหนึ่งภารกิจร่วมฝ่าวิกฤตโควิด ช่วยคนไทยมีวัคซีนเพิ่มขึ้น

Highlight

กระทรวงการต่างประเทศประสบความสำเร็จในการเจรจาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อแสวงหาวัคซีนโควิด-19 แก่คนไทย รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ประเทศต่างๆ ที่ได้ส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยมีดังนี้

จีน ส่งมอบวัคซีน Sinovac จำนวน 1 ล้านโดส

ญี่ปุ่น ส่งมอบวัคซีน  AstraZeneca จำนวน 1,053,090 โดส

สหรัฐอเมริกา ส่งมอบวัคซีน Pfizer จำนวน 1,503,450 โดส

สหราชอาณาจักร ส่งมอบวัคซีน AstraZeneca จำนวน 415,040 โดส


ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19  กระทรวงการต่างประเทศร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 โดยได้ติดตามข้อมูลพัฒนาการของวัคซีนโควิด-19 จากทั่วโลก ผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับประเทศที่มีศักยภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนและแหล่งกระจายวัคซีนในภูมิภาค

โดยเฉพาะการเจรจาผ่านหลายกรอบความร่วมมือทั้งทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อแสวงหาและติดตามการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 แก่คนไทย รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย

ความร่วมมือกับจีน

กระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันความร่วมมือด้านการจัดหาวัคซีนโควิด-19 กับฝ่ายจีน ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ผ่านการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในหลายโอกาส โดยไทยได้รับบริจาควัคซีน Sinovac จำนวน 1,000,000 โดส นอกจากนี้จีนยังอำนวยความสะดวกและติดตามการจัดหาวัคซีนของบริษัท Sinovac และบริษัท Sinopharm เพื่อประสานงานให้การจัดซื้อและส่งมอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ความร่วมมือกับญี่ปุ่น

กระทรวงการต่างประเทศทาบทามการจัดทำ vaccine swap กับญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่นได้บริจาควัคซีน AstraZeneca จำนวนกว่า 1,053,090 โดส ให้แก่ไทย

นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมาธิการ ร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม โดยทั้งสองฝ่ายยังได้หารือร่วมกันเรื่องความร่วมมือด้านวัคซีน ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าจะพิจารณามอบวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในญี่ปุ่นให้แก่ไทยเพิ่มเติมอีกด้วย

ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา

กระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือเพื่อเข้าถึงวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนของสหรัฐฯ ได้แก่ Pfizer, Moderna, Johnson & Johnson และ Novavax อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ทั้งในรูปแบบของการจัดซื้อ การขอรับความช่วยเหลือ และการเจรจาข้อตกลง vaccine swap โดยไทยได้รับบริจาควัคซีน Pfizer จำนวนกว่า 1,503,450 โดส เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และฝ่ายสหรัฐฯ มีแผนที่จะบริจาคเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส

ความร่วมมือกับสหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักรได้บริจาควัคซีน AstraZeneca จำนวน 415,040 โดส แก่ไทย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือเพื่อการสรรหาวัคซีนจากประเทศอินเดีย เกาหลีใต้และออสเตรเลีย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

กระทรวงการต่างประเทศยังดำเนินการจัดหาวัคซีนผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคี โดยอาเซียนอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อแจกจ่ายแก่ประเทศสมาชิก โดยจะใช้เงินจากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 (COVID-19 ASEAN Response Fund) ในการจัดซื้อวัคซีนผ่าน COVAX Facility

ซึ่งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 เป็นข้อริเริ่มของไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเดือนเมษายน .. 2563 และต่อมาที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 เมื่อเดือนมิถุนายน .. 2563 ได้ประกาศจัดตั้งกองทุนดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยประเทศไทยได้บริจาคเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนกองทุนดังกล่าวอีกด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้รัฐบาลมอบเงินสนับสนุนแก่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อสนับสนุนกลไก COVAX Facility ภายใต้ข้อริเริ่ม ACT-Accelerator โดยรัฐบาลไทยได้มอบเงินสนับสนุนผ่าน WHO จำนวน 2 ครั้ง รวม 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงการต่างประเทศมุ่งมั่นในการใช้ช่องทางการทูตเพื่อจัดหาวัคซีนและสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง เพื่อคนให้ไทยปลอดภัยจากโควิด-19

ติดต่อโฆษณา!