18 กันยายน 2564
2,423

AUKUS, สนธิสัญญาที่ช่วยให้ออสเตรเลีย มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ส่งผลให้พื้นที่โซน อินโด-แปซิฟิก ร้อนขึ้นทันที !! นักวิชาการไทยเตือนรัฐต้องเป็นกลาง

AUKUS, สนธิสัญญาที่ช่วยให้ออสเตรเลีย มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ส่งผลให้พื้นที่โซน อินโด-แปซิฟิก ร้อนขึ้นทันที !! นักวิชาการไทยเตือนรัฐต้องเป็นกลาง
Highlight:
1.AUKUS, สนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียสหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ  ด้านการทหาร และเทคโนโลยี
2.ออสเตรเลียจะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ครั้งแรกภายใต้สนธิสัญญาAUKUS
3.นักวิชาการวิเคราะห์ว่าเป็นการคานอำนาจจีนซึ่งมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
4.ประเทศอาเซียนห่วงกระทบสันติภาพภาคพื้นแปซิฟิกจากการสะสมอาวุธทำลายล้างสูง


AUKUS
คืออะไร?  ทำไมทำอุณหภูมิการเมืองระหว่างประเทศโซนอินโด-แปซิฟิกร้อนขึ้นในช่วงนี้ และจะสะเทือนถึงอาเซียนหรือไม่?..มาติดตามกัน

สืบเนื่องจากการที่ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ  ประกาศความร่วมมือด้านความมั่นคง เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเมื่อเร็วๆนี้ ดังนั้น AUKUS จึงน่าจะมาจากคำย่อของ (Australia, United Kingdom, United Stete of America) นั่นเอง

โดยความร่วมมือดังกล่าวจะเอื้อให้ทั้ง 3 ประเทศแบ่งปันเทคโนโลยีทางทหาร ครอบคลุมด้านปัญญาประดิษฐ์, ไซเบอร์ และเทคโนโลยีควอนตัม ตลอดจนการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะส่งผลให้ออสเตรเลียสามารถสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นเป็นครั้งแรก
 
ออสเตรเลียจะเป็นประเทศที่ 7 ของโลกนอกเหนือจากสหรัฐ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน และอินเดีย ที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง

แถลงการณ์ร่วมของสนธิสัญญาระบุว่า "นี่คือโอกาสครั้งประวัติศาสตร์สำหรับทั้ง 3 ชาติ และหุ้นส่วนและพันธมิตรที่มีความคิดตรงกัน ในการปกป้องคุณค่าร่วมกันและส่งเสริมความมั่นคงและความรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก"

ข้อตกลงนี้ทำให้ออสเตรเลียต้องฉีกสัญญามูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) ที่ลงนามกับฝรั่งเศสในปี 2016 ให้สร้างเรือดำน้ำ 12 ลำ

ทั้งนี้ AUKUS จะมีผลบังคับใช้ในอีก 18 เดือนข้างหน้า โดยออสเตรเลียตั้งใจจะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ถึง 8 ลำซึ่งจะได้รับความร่วมมือจากทั้งสหรัฐฯและสหราชอาณาจักร แต่ยืนยันว่าจะไม่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเรือดำน้ำ

ที่มาของความร่วมมือ

ขีดความสามารถทางการทหารและความแข็งกร้าวที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของจีน ได้ทำให้มหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งมีความกังวล

รัฐบาลจีนถูกกล่าวหาว่า ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นบริเวณดินแดนที่เป็นข้อพิพาทต่าง ๆ ในพื้นที่ทะเลจีนใต้

นอกจากนี้จีนยังได้ลงทุนมหาศาลในกองเรือลาดตระเวนชายฝั่ง (Coast Guard) ในช่วงไม่กี่ปีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่า ในทางพฤตินัยมันคือกองเรือทหารของจีน

ชาติตะวันตกหลายชาติกังวลต่อการลงทุนของจีนตามเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก และการคว่ำบาตรทางการค้าที่จีนกระทำต่อหลายประเทศ อย่าง ออสเตรเลีย

สหรัฐฯ และออสเตรเลีย เรียกการทำเช่นนี้ว่า "การข่มขู่ทางเศรษฐกิจ"

ขณะที่นิวซีแลนด์ ระบุว่า จะห้ามเรือดำน้ำของออสเตรเลียไม่ให้เข้ามาในน่านน้ำของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับเรือดำน้ำขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์

นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น กล่าวว่า นิวซีแลนด์ไม่ได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมในข้อตกลงนี้

ทำไมต้องเป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

เรือดำน้ำเหล่านี้เร็วกว่าและตรวจจับได้ยากกว่าเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานแบบดั้งเดิม พวกมันสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานหลายเดือน เดินทางได้ไกลกว่าและบรรทุกน้ำหนักได้มากกว่า

นักวิเคราะห์ระบุว่า การมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ประจำการอยู่ในออสเตรเลียมีความสำคัญต่ออิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ถือเป็นการแบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีนี้กับสหราชอาณาจักรเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า 3 ประเทศ มหาอำนาจผนึกกำลังต้านจีน

แม้ว่าผู้นำทั้ง 3 ชาติ ไม่ได้เอ่ยถึงจีนโดยตรง แต่ระบุว่า ความมั่นคงในภูมิภาคมีความท้าทาย "เพิ่มขึ้นอย่างมาก"

ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่านี่เป็นการคานอำนาจจีน ในการแผ่อิทธิพลเหนือคาบสมุทรแปซิฟิกในเวลานี้ สำนักข่าวบีบีซีระบุ

อินโดนีเซียกังวลต่อสถานการณ์ ย้ำออสเตรเลียต้องรักษาสันติภาพ

กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อความร่วมมือดังกล่าวนี้ เพราะอาจนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์  พร้อมเรียกร้องให้ออสเตรเลียรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ

กองทัพเรืออินโดนีเซียเปิดเผยด้วยว่า ได้เพิ่มเรือลาดตระเวนรอบหมู่เกาะนาทูนาในสัปดาห์นี้หลังพบเรือของจีนและสหรัฐในน่านน้ำของประเทศ

จีนตอบโต้ สนธิสัญญา AUKUS จะสร้างความไม่สงบในภูมิภาค

หลังข่าวความร่วมมือแพร่ออกไป โฆษกสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันแถลงว่าชาติต่าง ๆ "ไม่ควรสร้างกลุ่มเฉพาะตัว"

และต่อมา จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ก็ออกมาประณามความร่วมมือนี้ว่า "ไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง" และ "ใจแคบ" 

ซึ่งพันธมิตรใหม่ชุดนี้ สร้างความสุ่มเสี่ยงที่จะ "สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อความสงบสุขในภูมิภาค" และ "เพิ่มความเข้มข้นของการแข่งขันสะสมอาวุธ

มุมมองนักวิชาการของไทย ขอรัฐบาลอย่าเลือกข้าง !!

ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าความร่วมมือนี้สะท้อนความพยายามของมหาอำนาจตะวันตกที่กำลังเปิดฉากช่วงชิงเอเชีย และเตือนผู้นำรัฐบาลไทยอย่าเลือกข้าง เพราะ "ไม่มีผู้นำรัฐมหาอำนาจไหน เป็นนักบุญให้เรา"

ศ. ดร. สุรชาติ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า AUKUS อาจเป็นผลพวงด้านหนึ่งจากการแตกของอัฟกานิสถาน เพราะก่อนที่กรุงคาบูลแตก ภาพที่ผู้คนตื่นตกใจหรือตื่นเต้นคือภาพที่ผู้นำตาลีบันเข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าเมื่อไรที่สหรัฐฯ ถอนกำลังออก จีนจะมาสวมบทบาทแทน

"เอเชียจะกลายเป็นพื้นที่หลักของการขับเคลื่อนและแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจนับจากนี้ และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนด้วย โจทย์ที่ชัดเจนในเวทีโลกคือการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งอาจมีความผันผวนไปบ้างในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ (2016-2020) โดยย้ายไปปะทุที่การทำสงครามทางการการค้า (Trade War) แทนการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์” ศ.ดร.สุรชาติวิเคราะห์

ความร่วมมือของกลุ่ม AUKUS  ในเรื่องเรือดำน้ำ จะส่งผลต่อนโยบายจัดซื้อเรือดำน้ำของจีนที่รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่หรือไม่นั้น ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า เขาเคยประกาศจุดยืนคัดค้านการจัดซื้อเรือดำน้ำของไทยมาตลอด ตั้งแต่ปี 2538 ที่กองทัพเรือ (ทร.) มีแผนจัดซื้อเรือดำน้ำจากสวีเดน ก่อนต้องพับไปในขณะนั้น เขาเห็นว่า เรือดำน้ำไม่ใช่ความจำเป็นสำหรับราชนาวีไทย ไม่ได้ตอบโจทย์เงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ของรัฐไทย เพราะรัฐไทยไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งในทะเลหลวงซึ่งเป็นทะเลชั้นนอก แต่เราอาจมีความจำเป็นต้องมีเรือรบซึ่งเป็นเรือบนผิวน้ำ เพื่อแก้ปัญหาการค้าค้ามนุษย์ โจรสลัดในภูมิภาค

"เราไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้วอชิงตัน พอ ๆ กับที่เราไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ปักกิ่ง... ไม่มีผู้นำรัฐมหาอำนาจไหน เป็นนักบุญให้เรา แต่ถ้าเราเชื่อแบบนั้น เราจะมีอาการเหมือนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสงครามโลกครั้งที่สอง เชื่อว่าสุดท้ายฉันเกาะขบวนรถไฟญี่ปุ่นดีกว่า ถ้าญี่ปุ่นชนะ ไทยจะยิ่งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

โดยสรุปโลกยุคไร้พรมแดนดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นในเรื่องของการค้าและการลงทุนเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้านภูมิรัฐศาสตร์นั้นมหาอำนาจของโลกในฝั่งทุนนิยม และสังคมนิยมยังคงแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน กลิ่นอายของสงครามและการสู้รบไม่เคยหมดไป การดำเนินยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างสมดุลย์และลงตัว เป็นวาระที่สำคัญในทุกยุคทุกสมัย เพื่อนำพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากการเข้าสู่ภาวะสงครามและความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้  เรื่องสนธิสัญญา AUKUS จึงไม่ใช่เริ่องไกลตัวเกินไปนัก เพราะไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทั้งจีนและสหรัฐฯนั่นเอง

ที่มา : BBC, ไทยรัฐ 

ติดต่อโฆษณา!